รมว.พาณิชย์ หารือภาคเอกชนกลุ่มอาหารเน้นสร้างแบรนด์-ขยายตลาดใหม่กระตุ้นส่งออกปีนี้และปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 7, 2016 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ คาดภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารปี 59 จะอยู่ในแดนบวก โดยการส่งออกกุ้งคาดว่าจะขยายตัว 8% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐการส่งออกไก่สดแปรรูป แช่เย็นแช่แข็ง คาดว่าจะขยายตัว 4.5% คิดเป็น 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐการส่งออกทูน่ากระป๋อง คาดว่าจะขยายตัว 4% คิดเป็น 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการส่งออกผักผลไม้สด คาดว่าจะขยายตัว 3% คิดเป็น 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญภาคเอกชนรายใหญ่กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ประกอบด้วยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย คณะกรรมการกลุ่มพืชผักและผลไม้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ รวมถึงปัญหาอุปสรรคการส่งออก แนวทางแก้ไข และแนวทางกระตุ้นการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 และวางแผนกระตุ้นการส่งออกในปีหน้า โดยภาคเอกชนกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร

โดยภาคเอกชนได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ทำการตลาดสินค้าเกษตรและอาหาร โดยการสร้างแบรนด์ของประเทศในภาพรวม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใจให้กับผู้ซื้อผู้บริโภคในต่างประเทศทั้งในด้าน Food Safety, Food Sustainability และ Food Social Responsibility พร้อมสร้างการรับรู้ว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างแข็งขันทั้งในด้านแรงงานและสุขอนามัย ทั้งนี้ ควรเน้นการทำตลาดทั้งการรักษาตลาดหลักเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและการขยายตลาดใหม่ไปพร้อมกันด้วย โดยการส่งออกในกลุ่มปลาทูน่า ผักและผลไม้ ไก่ มีแนวโน้มส่งออกขยายตัวเป็นบวกในปีนี้

"ที่ผ่านมาเราได้แก้ไขปัญหาของสินค้าเกษตรและประมงมาโดยตลอด ทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกทูน่าของเราไปได้ดีมาก เป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศว่า ไทยเป็น Best Practice และ Sustainable Fishing ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ตลาดยุโรปเปิดรับสินค้าอาหารของไทยมากขึ้น และในสัปดาห์หน้าจะนำคณะจากกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนเยือนประเทศมัลดีฟส์ ซึ่งจะมีการหารือเพื่อสร้างพันธมิตรในการทำประมงระหว่างกันด้วย” รมว.พาณิชย์ กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีกำหนดจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจสินค้าข้าวหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์จากข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยเชิญผู้ซื้อผู้นำเข้าจากต่างประเทศทั่วโลกเดินทางมาร่วมกิจกรรมกว่า 300 ราย ในระหว่างวันที่ 13 – 16 พฤศจิกายน 2559 ให้เป็นช่องทางเร่งระบายสินค้าดังกล่าว เพื่อช่วยยกระดับราคาภายในประเทศต่อไป

อนึ่ง มูลค่าการส่งออกของสินค้าเกษตรและอาหารในภาพรวมช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม – สิงหาคม) ของปี 2559 มีมูลค่า 20,709 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.9 โดยสินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2559 ได้แก่ กุ้ง ไก่สดแปรรูป แช่เย็นแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง และผักผลไม้สด

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกกุ้งปี 59 จะเติบโต 15-20% เพิ่มขึ้นจากปี 58 ที่มีมูลค่า 58,000 ล้านบาท เพราะได้แก้ไขปัญหาโรคตายด่วนในกุ้ง จนลดการสูญเสีย และทำให้มีวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้นในการส่งออก และการแก้ไขปัญหา IUU ของรัฐบาลอย่างจริงจัง ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นต่อการผลิตสินค้าอาหารทะเลของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกุ้ง ประกอบกับไทยสามารถแก้ไขปัญหาโรคตายด่วนในกุ้ง ทำให้มีวัตถุดิบมากขึ้นที่จะป้อนคำสั่งซื้อตลาดต่างประเทศ ขณะเดียวกันผู้นำเข้าสหรัฐฯ เช่น ห้างวอลมาร์ท จะเดินทางมาไทย เพื่อตรวจสอบระบบการผลิตอาหารทะเลในไทย คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อตามมากอีกมาก

ส่วนนายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการกลุ่มพืชผักและผลไม้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กระแสความวิตกต่อการบริโภคผักและผลไม้ของไทยที่มีการตรวจสอบพบสารตกค้างนั้น เร็วๆ นี้จะเชิญผู้ประกอบการค้าปลีกมาชี้แจง ซึ่งในภาพรวมน่าจะส่งผลจิตวิทยาของผู้บริโภคในประเทศ แต่ไม่กระทบต่อการส่งออก เพราะการส่งออกจะมีมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ส่วนการส่งออกผักและผลไม้ 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสัดส่วน 70-80% ส่งออกไปตลาดจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ