นายกฯขอบคุณทุกฝ่ายร่วมมือกับรัฐบาลในการช่วยเหลือชาวนา กำลังพิจารณาช่วยข้าวขาว-ข้าวโพด

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday November 5, 2016 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ“ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอย่างมาก กับการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ โดยมีมติเห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือเกษตรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559 ถึง 2560 ในด้านการตลาด ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เสนอมา ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559 ถึง 60 ซึ่งกำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือก ไม่เกินร้อยละ 90 ของราคาตลาด โดยเฉลี่ย (2) ค่าใช้จ่ายในการตากข้าวเปลือก และค่าแรงงานในการเตรียมข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร, สหกรณ์การเกษตร, กลุ่มเกษตรกร รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน และ (3) การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ปีการผลิต 2559 ถึง 60

โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2559 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2560 แนวทางหนึ่ง ในการแก้ปัญหาราคาข้าวตกนั้น ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานไว้ ได้แก่ การรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกัน อาจจะต้องตั้งหรือไปตกลงกับโรงสีให้แน่ชัดนะครับ จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่มแล้ว ก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วไปพยายามสีเอง หรือให้มีการผ่านมือเพียงผู้ที่ผลิตข้าว ผู้ที่สี และผู้ที่บริโภค ทั้งนี้ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถตัดปัญหาคนกลางลงไปได้บ้าง คงไม่ได้ทั้งหมดหรอก

"ผมขอชื่นชมความคิดริเริ่ม “โครงการลองกอง จังหวัดสุราษฎร์ธานีแลกข้าวสารหอมมะลิจังหวัดร้อยเอ็ด" นับเป็นการดำเนินงานในลักษณะ “ประชารัฐ" เป็นโครงการที่ดีที่หลายฝ่าย ร่วมมือกัน ร่วมแก้ปัญหา ด้วยการแลกเปลี่ยนผลผลิตโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง สามารถจะแลกเปลี่ยนผลิตผลทางการเกษตร หรืออื่นๆ ข้ามภูมิภาค เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตกได้ จะเป็นการช่วยเหลือตัวเองก่อน แล้วจะได้ไม่ต้องรอแต่การช่วยเหลือจากภาครัฐ จากภายนอก เพราะว่าต้องใช้เวลานะครับในการแก้ปัญหา กำหนดมาตรการต่างๆ เพราะว่าต้องใช้กฎหมายด้วย"

เพราะฉะนั้นจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เข้มแข็งนั้น เราน่าจะสามารถกระทำได้ตลอดเวลา การสร้างห่วงโซ่คุณค่า ที่ผมเรียนไปแล้ว ทั้งผลิต แปรรูป และการตลาด ย่อมเป็นสิ่งพึงประสงค์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระจายสินค้าสู่ตลาดต่างภูมิภาค ให้เกิดกลไกที่ยั่งยืนได้ในอนาคต รัฐบาลก็จะหาช่องทางเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนได้ ในช่องทางที่ถูกต้อง ง่ายขึ้นนะครับ ขอให้เรามีการจัดระบบ, จัดกลไกการทำงานร่วมกัน จัดปฏิทินการแลกเปลี่ยนตามฤดูผลผลิต และจัดจุดแลกเปลี่ยน จุดกระจายสินค้าที่แน่นอน ทางรัฐบาล และราชการก็เข้าไปดูแลด้วย เหล่านี้เป็นต้น

"ผมขอขอบคุณหลายๆ หน่วยงานที่ออกมาตรการแก้ปัญหา หรือมีส่วนร่วมในการเอาชนะปัญหาราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำ อาทิเช่นกระทรวงแรงงาน เตรียมรวบรวมตำแหน่งงานว่างในแต่ละจังหวัด สำหรับเกษตรกรที่สนใจทำอาชีพเสริมช่วงว่างเว้นจากการทำนา มีการจัดหลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพเพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้รวมทั้งการอบรมเทคนิคการค้าขายแบบออนไลน์ เพื่อสามารถจำหน่ายสินค้าได้ด้วยตนเอง"

นอกจากนั้นขอขอบคุณ สถานประกอบการต่างๆ เช่น ปั๊ม ปตท. และบางจาก ทั่วประเทศในการเตรียมพื้นที่ให้ชาวนาสามารถนำข้าวสารมาขาย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนสามารถซื้อขายข้าวสารได้สะดวกยิ่งขึ้น

สำหรับการสร้างความยั่งยืนให้แก่ชาวนาในระยะยาวนั้น รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือชาวนาทั้งระบบ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยการปรับกระบวนทัศน์สำหรับอนาคตข้าวไทย เราจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านตลาด ได้แก่ (1) ใช้การตลาดนำการผลิต หรือให้ความต้องการ (อุปสงค์ข้าว) นั้นเป็นตัวตั้ง (2) มีการจำแนกแผนการส่งเสริมข้าวและการกำหนดมาตรฐานตามประเภทของข้าว (3) มีการปรับโครงสร้างการปลูกและผลิตข้าวครบวงจร ตั้งแต่การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี, การช่วยเหลือต้นทุนการผลิต, การพักชำระหนี้ของชาวนา,การประกันภัยข้าวนาปี, การสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวนาเกษตรแปลงใหญ่

เพื่อปลูกข้าวแปลงใหญ่, การอบรมให้ความรู้ทั้งด้านความเข้าใจเรื่องต้นทุนการผลิตและการตลาด และจัดให้มีโครงการฝึกอบรมในโครงการต่างๆ เพื่อให้ความรู้เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนหรือปลูกพืชอื่นเสริมนอกเหนือจากการปลูกข้าว สำหรับพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการทำนาเพื่อขาย รวมถึง (4) การสร้างความเป็นธรรมให้แก่ชาวนาในกระบวนการผลิตและค้าข้าว ด้วยอาศัยกลไกประชารัฐ อาทิเช่น การปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีการ เป็นต้น

ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดแผนงานสำหรับให้การสนับสนุนชาวนาในแต่ละช่วงเวลาของวงจรข้าว สรุปได้ดังนี้ การผลิต และการจัดทำการตลาดให้กับสินค้าข้าว สรุปได้ดังนี้

ช่วงการผลิต ประกอบด้วย 10 แผนงาน ได้แก่ (1) การวางแผนการเพาะปลูกข้าว (2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกร (3) การจัดการปัจจัยการผลิต (4) การลดต้นทุนการผลิตข้าว (5) การประกันภัยพืชผล (6) การให้สินเชื่อ 7) การทำไร่นาสวนผสม (8) การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว (9) การพัฒนาชาวนารุ่นใหม่ และ (10) การส่งเสริมเกษตรกรเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยว จะประกอบด้วย 3 แผนงาน ด้แก่ (1)การสนับสนุนและบริหารจัดการเครื่องจักรกลทางการเกษตร (2)การเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานโรงสี และ (3)การพัฒนาส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพครบวงจรเพื่อเพิ่มมูลค่า

รวมทั้งการจัดทำการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย 10 แผนงาน ได้แก่ มาตรการชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด มาตรการสร้างความเป็นธรรมทางการค้า การจัดทำและทบทวนมาตรฐานข้าว กรวิจัยและพัฒนา การพัฒนาตลาดสินค้าข้าวที่มีศักยภาพด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม และ การเจรจาตลาดต่างประเทศ ในลักษณะ G to G และ การขยายตลาดข้าวที่มีคุณลักษณะเฉพาะ เป็นต้น นะครับ

นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวขอบคุณโรงสี กับในส่วนของพ่อค้าคนกลางที่ร่วมมืvกับรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังจะทำลายการผลิตข้าว – การปลูกข้าว ของเกษตรกร – ทำลายวิถีชีวิตชาวนา ที่พวกเราทำมา ตั้งแต่โบราณกาล แต่อย่างใด เราเพียงมุ่งหวังจะทำให้ชาวนา มีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้น อย่างยั่งยืน

สำหรับ มาตรการสร้างแรงจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยน การปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ – น้ำ เป็นสิ่งสำคัญ ตามที่เราได้จัดทำแผนที่การเกษตร ที่เรียกว่า Agri Map ไปแล้ว นะครับ ขั้นต้นจะทำให้เรารู้ปริมาณน้ำที่จะต้องใช้, การจัดระเบียบการปลูกก่อน หรือ หลัง ให้มันแลปกัน มันจะได้ไม่ออกมาในช่วงเวลาเดียวกันนะครับ ราคามันก็ตก เพราะปริมาณมากเกินไป ,การทำไร่นาสวนผสม การปลูกพืชหลายชนิด, ลดการปลูกในฤดูน้ำมาก ไปทำอาชีพอื่นบ้าง นะครับอาชีพเสริมโดยหันไปปลูกพืชชนิดอื่นบ้าง

สำหรับพืชชนิดอื่นๆ อาทิเช่น ข้าวขาวก็กำลังพิจารณาอยู่ ข้าวโพดก็กำลังเป็นปัญหาสำคัญ ก็กำลังให้ฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาร่วมกันเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา อย่าเพิ่งเรียกร้องอะไรช่วงนี้ ทราบดีว่าปัญหาท่านอยู่ที่ไหน

วันนี้ข้าวโพดนั้นก็เป็นปัญหาสำคัญ อีกอันนึง ที่ใช้ผลิต เพื่อการบริโภคด้วยและเพื่อในการทำอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ มันจะเกี่ยวพันไปถึงการนำเข้าข้าวโพด วันนี้เรายังผลิตไม่เพียงพอนะครับ และก็เราไม่สามารถจะปล่อยปละละเลยให้ปลูก ในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีการนำเข้านะครับ วันนี้เราก็ขอความร่วมมือจากบริษัทนะครับ ว่าไม่ให้ซื้อของในพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย หรือบนป่าเขาซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มายาวนาน นะครับ ทั้งนี้อย่างที่เรียนไปแล้ว ได้ขอความร่วมมือบริษัทขนาดใหญ่ นะครับ ให้มารับซื้อจากแหล่งผลิต ซึ่งมีแหล่งที่มาที่ชัดเจน มีการตรวจสอบ DNA นะครับ ผมไม่ใช่ว่าต้องการให้เขามาผูกขาด

อีกประการก็คือ การทำอาหารสัตว์นั้น เมื่อข้าวโพดน้อย ปลูกไม่พอ ปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมาย ซื้อขายไม่ได้ ก็ต้องนำเข้าเพิ่ม รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังพยายามหาทางออก หามาตรการที่สามารถทำได้ โดยทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และพันธสัญญาระหว่างประเทศที่เราจะต้องมีการค้าต่างตอบแทนอีกด้วย ประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศคู่ค้าต่างๆเหล่านั้น ไม่ใช่มองว่า รัฐบาลจะเอื้อประโยชน์แก่นายทุน หรือ ผูกขาดให้กับใคร เพราะรัฐบาลนี้ มาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น ให้ประชาชนมีทางเลือกด้วยตนเอง มีโอกาสมากขึ้น

เพราะฉะนั้นบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ ก็ต้องขอร้องนะครับ ว่าวันนี้ที่ท่านจำเป็นต้องใช้ข้าวสาลี มาผสมด้วยเพราะว่าราคาถูกกว่า ต้นทุนถูกกว่า ข้าวโพดก็ไม่เพียงพอนะครับ รัฐบาลก็อาจจะต้องจำเป็นทบทวน ทั้งโควต้าการนำเข้าข้าวโพด ข้าวสาลี ทั้งระบบ นะครับ ระบบภาษีต่างๆ อีกด้วย ว่าจะทำได้มากแค่ไหน ขอความร่วมมือไว้ก่อนนะครับ

สำหรับการปลูกข้าวโพด ในพื้นที่ที่เหมาะสม นั้นก็ยังมีความจำเป็น เพราะว่าในเมื่อเราลดพื้นที่ปลูก ในพื้นที่ไม่ถูกต้อง มันก็ต้องหาพื้นที่ปลูกใหม่เพราะเราขาดแคลน เพราะฉะนั้นอาจจะต้องไปทดแทนในพื้นที่ที่ปลูกข้าวแล้วไม่ได้ผล ไม่มีคุณภาพ ก็แล้วแต่ประชาชนจะร่วมมือเพราะว่าเท่าที่ตรวจสอบแล้ว มันมีการใช้งบประมาณหรือต้นทุนในการปลูกต่ำกว่าข้าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ