ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 35.33 ยังอ่อนค่าหลังมีเงินไหลออก มองกรอบสัปดาห์หน้า 35.20-35.50

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 11, 2016 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.33 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงกับ เปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 35.34 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.24-35.42 บาท/ดอลลาร์ แนวโน้มยังอ่อนค่าตามทิศทางการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ

"วันนี้บาทแกว่งตัวผันผวนในกรอบค่อนข้างกว้าง ซึ่งเป็นผลจาก flow ไหลออก" นักบริหารเงิน กล่าว

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินในช่วงนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคน ใหม่ ซึ่งตลาดกลับมามีมุมมองในทางที่ดีขึ้น

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้าไว้ระหว่าง 35.20-35.50 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เย็นนี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 106.38 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 106.71 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0855 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0883 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,494.53 ลดลง -19.73 จุด, -1.30% มูลค่าการซื้อขาย 76,733.46 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 3,764.09 ล้านบาท (SET+MAI)
  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผยกระทรวงการคลัง
เตรียมความพร้อมด้านนโยบายการเงินการคลังเพื่อรองรับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ไว้
ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งต้องพิจารณาจากนโยบายที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้หาเสียงใน 4 ด้านหลัก ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลหรือกลัว แต่ต้องกล้าที่
จะคิด โดยไทยมีความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างสมดุลกับประเทศใหญ่
  • นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ระบุขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดี
ของสหรัฐฯ เพราะเหตุการณ์ยังไม่นิ่งจากความกังวลนโยบายในการหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งในทางปฏิบัติจริงแล้วอาจจะทำ
ตามนโยบายไม่ได้หมด ดังนั้นจึงต้องพิจารณากันอีกทีในช่วงเดือน ก.พ.60 หลังจากมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และการมอบนโยบายอย่าง
เป็นทางการของประธานาธิบดีคนใหม่
  • นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ที่มี
แนวโน้มเพิ่มขึ้นว่า การเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจาก SMEs ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจปรับตัวลดลง NPL ก็ต้องเพิ่มขึ้นอยู่
แล้ว ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามดำเนินการอยู่
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) เดือน ต.ค.59 ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ
3 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 42.9 จากระดับ 44.2 ในเดือน ก.ย.59 เนื่องจากมีความกังวลเรื่องราคาสินค้าเพิ่มขึ้น หลังราคาสินค้า
อุปโภค-บริโภคปรับตัวสูงขึ้นในเดือน ต.ค.59 ส่งผลต่อเนื่องให้ครัวเรือนเป็นกังวลต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) มากขึ้น
ตามไปด้วย
  • นายโดนัล ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 เตรียมออกกฏข้อบังคับในระบบการเงินใหม่ที่จะช่วยหนุนให้
เศรษฐกิจของชาติและอัตราการจ้างงานขยายตัวมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยกเลิกกฏหมายดอดด์-แฟรงค์ ซึ่งเป็นกฏหมายที่รัฐบาลของ
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เคยใช้กู้วิกฤตการณ์ทางการเงินในอดีต
  • นายลี จู-ยึล ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ หลังจากที่
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
  • นายทาเกฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เรียกร้องให้สหรัฐฯ สานความสัมพันธ์ทาง
เศรษฐกิจต่อไปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
  • ธนาคารกลางมาเลเซีย เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของมาเลเซียขยายตัว 4.3% ในไตรมาสที่
3 ปี 2559 เนื่องจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน แม้ว่าการใช้จ่ายของทางรัฐบาลจะอ่อนตัวลงก็ตาม ทั้งนี้จีดีพีของ
มาเลเซียในไตรมาส 2 ปี 2559 นั้นขยายตัว 4%
  • ธนาคารกลางอินโดนีเซียเผยพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาด ภายหลังจากที่เงินรูเปียห์ร่วงลงไป
ถึง 2.7% แตะ 13,495 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ จากกระแสการคาดการณ์ที่ว่า คณะทำงานของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่
ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่อาจจะใช้นโยบายปกป้องการค้า และรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์อาจจะยกเลิกข้อตกลงหุ้นส่วน
ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ