ก.พลังงาน หนุนงบกว่า 20 ลบ.ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ส่งเสริมผลิตพลังงานทดแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 16, 2016 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธรรมยศ ศรีช่วย รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงโครงการประชารัฐตามนโยบายรัฐบาลส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชน 6 ประเภท ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล น้ำ ลม ก๊าซชีวภาพ และขยะ ในระดับชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 26 โครงการ ว่า กระทรวงพลังงานให้การสนับสนุนงบประมาณ 30-70% ส่วนที่เหลือชุมชนจะออกงบประมาณเอง ปัจจุบันมีชุมชนจากทั่วประเทศเข้าร่วม จำนวน 26 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการประกอบด้วย 6 ประเภทพลังงานทดแทน รวมกำลังการผลิต 931 กิโลวัตต์ ได้แก่

ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 7 โครงการ วงเงินสนับสนุน จำนวนรวม 3.24 ล้านบาท กำลังการผลิตเทียบเท่ารวม 73 กิโลวัตต์ อาทิ โครงการพัฒนาโรงอบเยื่อไผ่ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง จ.ลำปาง กำลังการผลิตเทียบเท่า 16 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 774,000 บาท กระทรวงพลังงานสนับสนุน 70% เป็นเงิน 541,800 บาท และโครงการแปรรูปมะม่วงอบแห้งโดยโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ โดย องค์การบริหารส่วนตำบลอบทม จ.อ่างทอง กำลังการผลิตเทียบเท่า 5 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 600,300 บาท กระทรวงพลังงานสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 420,210 บาท คิดเป็น 70% เป็นต้น

ประเภทพลังงานชีวมวล จำนวน 3 โครงการ วงเงินสนับสนุนรวม 4.75 แสนบาท กำลังการผลิตเทียบเท่ารวม 362 กิโลวัตต์ อาทิ โครงการเปลี่ยนของเสียจากกระบวนการผลิตเป็นแหล่งพลังงานในโรงแปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์และชาสมุนไพร โดย สหกรณ์กรีนเนท จำกัด จ.ยโสธร กำลังการผลิต 17 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 880,807 บาท กระทรวงพลังงานสนับสนุนงบประมาณ 30% เป็นเงินจำนวน 264,242 บาท เป็นต้น ประเภทพลังงานน้ำ จำนวน 3 โครงการ วงเงินสนับสนุนรวม 2.15 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 60 กิโลวัตต์ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันน้ำในพื้นที่ชุมชนคีรีวงและตำบลกำโลน โดย กองทุนหมู่บ้านคีรีธรรม จ.นครศรีธรรมราช กำลังการผลิต 60 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 3,842,000 บาท วงเงินสนับสนุน 2,148,960 บาท เป็นต้น

ประเภทพลังงานลม จำนวน 1 โครงการ วงเงินสนับสนุนจำนวนรวม 3.7 แสนบาท ผลิตพลังงานทดแทนรวมได้เท่ากับ 2 กิโลวัตต์ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลม โดย มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง จ.ยะลา (2 กิโลวัตต์) มูลค่าโครงการ 529,000 บาท วงเงินสนับสนุน 70% เป็นเงินจำนวน 370,300 บาท

ประเภทพลังงานก๊าซชีวภาพ จำนวน 10 โครงการ วงเงินสนับสนุนรวม 8.3 ล้านบาท กำลังการผลิตเทียบเท่ารวม 194 กิโลวัตต์ อาทิ โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลวัวเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง จ.ยะลา กำลังการผลิต 12 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 2,566,000 บาท วงเงินสนับสนุน 1,539,600 บาท หรือ 60% และโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควัน สหกรณ์พัฒนาคุณภาพยางพารา ต.ห้วยแร้ง จ.ตราด กำลังการผลิตเทียบเท่า 11 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 1,455,987 บาท วงเงินสนับสนุน 60% เป็นเงินจำนวน 873,592 บาท เป็นต้น

ประเภทพลังงานขยะ จำนวน 2 โครงการ วงเงินสนับสนุนรวม 6 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 240 กิโลวัตต์ ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากพลังงานขยะ เพื่อขยายการใช้งานพลังงานทดแทนในภาคครัวเรือนบ้านป่าขามโดย กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านตาล จ.เชียงใหม่ กำลังการผลิตเทียบเท่า 120 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 4,615,312 บาท วงเงินสนับสนุน 3,000,000 บาท หรือร้อยละ 65 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากพลังงานขยะ เพื่อขยายการใช้งานพลังงานทดแทน ในภาคครัวเรือน และภาคการเกษตรบ้านแม่ยุย โดย กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านตาล จ.เชียงใหม่ กำลังการผลิตเทียบเท่า 120 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 5,097,497 บาท วงเงินสนับสนุน 60% เป็นเงินจำนวน 3,000,000 บาท

“โครงการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชน มุ่งเน้นการลดรายจ่ายด้านพลังงาน และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน โดยการนำทรัพยากรหรือสิ่งเหลือใช้ในท้องถิ่นมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและร่วมลงทุนกับภาครัฐ เรียกได้ว่าเป็นเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และยังสอดคล้องกับทิศทางของประเทศที่เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทน ให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 อีกด้วย" นายธรรมยศ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ