(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน พ.ย.59 ขยายตัว 0.60%, Core CPI ขยายตัว 0.72%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 1, 2016 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน พ.ย.59 อยู่ที่ 106.79 ขยายตัว 0.60% เมื่อเทียบกับ พ.ย.58 และหากเทียบกับเดือน ต.ค.59 หดตัว -0.06% ส่งผลให้ CPI ช่วง 11 เดือนปี 59 (ม.ค.-พ.ย.59) ขยายตัว 0.10%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน พ.ย.59 อยู่ที่ 106.89 ขยายตัว 0.72% เมื่อเทียบกับ พ.ย.58 และขยายตัว 0.03% เมื่อเทียบกับ ต.ค.59 ส่งผลให้ Core CPI ช่วง 11 เดือนปี 59 (ม.ค.-พ.ย.59) ขยายตัว 0.74%

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เดือน พ.ย.59 อยู่ที่ 116.14 เพิ่มขึ้น 1.49% เทียบกับเดือน พ.ย.58 แต่หดตัว -0.04% เทียบกับเดือน ต.ค.59 ส่วนดัชนีราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.81 เพิ่มขึ้น 0.11% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.58 แต่หดตัว -0.07% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.59

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 59 อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวเล็กน้อยจากการใช้จ่ายของครัวเรือน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงสิ้นปี โดยยังคงประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อปีนี้ที่ 0-1.0%

ขณะที่ปี 60 คาดอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.5-2.0% โดยมีสมมติฐานหลักมาจาก 1.การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัว 3.0-3.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 59 จากปัจจัยหนุน เช่น การใช้จ่ายครัวเรือน, รายได้เกษตรกรเริ่มปรับตัวดีขึ้น, การลงทุนโครงการภาครัฐ 2.ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 60 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในช่วง 45-55 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับกลุ่มโอเปกได้มีการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันจึงทำให้อุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดโลมีความสมดุลมากขึ้น 3.อัตราแลกเปลี่ยนในปี 60 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 35.50-37.50 บาท/ดอลลาร์ โดยมีแนวโน้มอ่อนค่าจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของหลายประเทศ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย.59 สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.60% นั้นถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 23 เดือน ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ย.ที่สูงขึ้นดังกล่าวนั้น ยังได้รับผลกระทบหลักมาจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่สูงขึ้น 12.94% ในขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.49% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.58% หมวดบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้น 0.49% หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 0.46% เป็นต้น น.ส.พิมพ์ชนก ยังกล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำใน 69 จังหวัดซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.60 เป็นต้นไปว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อในหน้าให้เพิ่มขึ้น 0.2-0.35% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะได้ติดตามความเคลื่อนไหวราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรมสอดคล้องกับต้นทุน พร้อมทั้งเพิ่มทางเลือกในการบริโภคให้แก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ "ค่าแรงขั้นต่ำที่ขึ้นไม่เท่ากันทุกจังหวัดนั้น แต่ราคาสินค้าถ้าปรับขึ้นจะขึ้นเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จะพยายามเข้าไปดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดมากขึ้นตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไปจนถึงช่วงต้นปี เพื่อไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาอย่างเกินพอดี หรือออกนอกลู่นอกทางไปมาก" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ