(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ คาดศก.ไทยปี 60 โต 3.6% หลังเม็ดเงินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐช่วยหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 22, 2016 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวได้ 3.6% ดีขึ้นจากในปี 2559 ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% โดยมองว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2/60 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินราว 2 แสนล้านบาท ที่มีส่วนช่วยดัน GDP ปีหน้าได้ประมาณ 1% (รวมอยู่ใน 3.6% แล้ว)

พร้อมมองว่า ในไตรมาสแรกของปี 60 เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงค์ต่อเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นต่างๆ ที่รัฐบาลได้ทยอยออกมาในไตรมาส 4/59 เช่น โครงการช็อปช่วยชาติ การโอนเงินเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นต้น ขณะที่ช่วงครึ่งหลังของปี 2560 จะมีเม็ดเงินอีกราว 4 แสนล้านบาท เริ่มลงสู่โครงการด้านต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC), โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ, การค้าตามแนวชายแดน รวมทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งในส่วนของมอเตอร์เวย์ และรถไฟรางคู่ เป็นต้น สำหรับการส่งออกนั้น มองว่าในปี 2560 การส่งออกของไทยจะสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 1.4% จากในปีนี้ที่คาดว่าจะยังหดตัว -0.4% ส่วนการนำเข้าปีหน้า คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% จากในปีนี้ที่หดตัว -3.8% ส่วนดุลการค้าปี 60 คาดเกินดุล 39.7 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัด คาดเกินดุล 11.5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีหน้า จะอยู่ที่ระดับ 1.6% จากในปีนี้ที่ระดับ 0.2%

ขณะที่ในปี 59 คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.2% ขณะที่ส่งออกในปีนี้คาดว่าจะ -0.4% ส่วนนำเข้าคาด -3.8% โดยดุลการค้าปี 59 คาดเกินดุล 40.9 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัด คาดเกินดุล 11.9 พันล้านดอลลาร์

นายธนวรรธน์ กล่าวถึงปัจจัยสนับสนุนต่อการดำเนินธุรกิจในปี 2560 ประกอบด้วย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีผลต่อการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงมีการจัดสรรงบประมาณกลางปีเพิ่มเติม 200,000 ล้านบาท ที่จะมีผลต่อจีดีพี 1% ในข่วงไตรมาส 2/2560 รวมถึงมาตรการชอปช่วยชาติ และโอนเงินสวัสดิการให้ประชาชนจะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น การส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้ง ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ทั้งในจำนวนและรายได้ การปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ สถานการณ์การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพ

ด้านปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วย นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ ที่มีผลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความกังวลต่อภัยก่อการร้าย มีผลทำให้การค้าและการลงทุนโลกซบเซา เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัญหาภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญมีผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง อีกทั้งปัจจัยจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมีผลทำให้อำนาจซื้อลดลง และความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของภาคสถาบันการเงิน เนื่องจากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะประกอบไปด้วย 4 ป. คือ 1.เป็นปีแห่งการปรับโครงสร้าง ที่หลายประเทศจะเน้นการสร้างความเข้มแข็งภายใน และเน้นการทำค้าผ่านความร่วมมือในกลุ่มต่างๆ เช่นในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน 2.เป็นปีแห่งการปรับสมดุล ซึ่งสินค้าที่เคยโอเวอร์ซัพพายจะเริ่มลดลง ราคาน้ำมันจะเริ่มกลับมาสู่สมดุลและยืนในระดับ 55-60 ดอลลาร์ต่อบาเรล คอนโดมิเนียมในบางพื้นที่ที่โอเวอร์ซัพพายจะเริ่มทรงตัว ราคาสินค้าเกษตรจะปรับเข้าสู่ภาวะสมดุล เช่น ยางพารา คาดว่าจะอยู่ 80 บาทต่อกิโลกรัม

3.เป็นปีแห่งการปรับเปลี่ยน คือ เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเริ่มมีมุมมองบวกมากขึ้น และภัยก่อการร้ายที่มีอยู่ในหลายประเทศจะควบคุมได้ เศรษฐกิจโลกน่าจะปรับตัวดีขึ้น และปีหน้าจะเป็นปีของการเปลี่ยนแปลงโลกอนาลอคสู่ดิจิตอล รถยนต์เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเป็นไฮบริดหรือไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจับจ่ายใช้สอยมาสู่ระบบเทคโนโลยี

และ 4.เป็นปีของการปรับปรุง คือ โลกจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฏระเบียบและกฎหมาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ในประเทศให้มากขึ้นซึ่งประเทศไทยปีหน้าจะมีกฎหมายที่จะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.อีกหลายฉบับ รวมถึงมีการปรับปรุงเว็ปไซด์ ปรับปรับการบริการให้ดีมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ