ผู้ว่า ธปท.มองศก.ไทยมีโอกาสขยายตัวตามศักยภาพได้หากลงทุนเอกชน-ภาคเกษตรเติบโตดี, ลุ้น GDP ปี 60 อาจโตได้มากกว่า 3.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 23, 2016 13:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีความมุ่งหวังจะเห็นเศรษฐกิจไทยในระยะอีก 1-2 ปีข้างหน้าเติบโตได้เต็มศักยภาพที่ระดับ 4-5% ว่า ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับดังกล่าว เนื่องจากยังปัจจุบันมีบางภาคส่วนที่ยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ เช่น การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่าชะลอตัวลงกว่าอดีต ซึ่งหากมีการลงทุนมากขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น S Curve ก็จะช่วยตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้ นอกจากนี้ยังภาคเกษตรของไทย ก็ยังมีโอกาสที่จะยกระดับศักยภาพได้ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย

"ทั้งหมดนี้มีความเป็นไปได้ หากเรามีการปฏิรูปและยกระดับอย่างจริงจัง ก็จะช่วยทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยสามารถโตได้เต็มศักยภาพมากกว่าที่เป็นอยู่" นายวิรไท กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 60 ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้มากกว่าที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.2% โดยมองว่า 4 ปัจจัยบวกสำคัญที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าเติบโตได้มากขึ้นนั้น ประกอบด้วย 1.หากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ก็จะส่งผลดีมาถึงการค้าการลงทุนที่ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้ด้วย 2.โครงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งหากในปีหน้าสามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผล และทำได้เร็วกว่าคาดก็จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คาดไว้

3.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งในปีนี้ราคาตกต่ำและได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งนั้น คาดว่าปีหน้าสถานการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลาย และช่วยให้ราคาปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เศรษฐกิจโตได้มากขึ้นเช่นกัน และ 4.การท่องเที่ยว จากในปีนี้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวที่ทำให้การท่องเที่ยวชะลอตัวลง แต่ปีหน้าหากภาคการท่องเที่ยวฟื้นกลับได้เร็วก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตได้มากกว่าที่คาด

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 60 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นปัจจัยจากต่างประเทศ เช่น นโยบายด้านการค้าต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งหากใช้นโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้น และประเทศอุตสาหกรรมหลักหันมาใช้นโยบายในลักษณะดังกล่าวมากขึ้นตามก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่ในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งของหลายประเทศที่สำคัญในยุโรป และสุดท้ายกระบวนการที่อังกฤษถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งจะเริ่มมีผลในปีหน้านั้น อาจจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ