ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 35.80/85 กลับมาแข็งค่ารับเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้น มองกรอบพรุ่งนี้ 35.75-36.00

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 4, 2017 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.80/85 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่า จากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 35.89 บาท/ดอลลาร์

ระหว่างวันเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาจากช่วงเช้า เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้า ซึ่งวันนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดบวก โดย ดัชนีเพิ่มขึ้นกว่า 20 จุด

"วันนี้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งวัน โดยมีแรงหนุนจากเงินไหลเข้า และวันนี้หุ้นไทยก็ปิดบวก" นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าได้ต่อ โดยจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.75 - 36.00 บาท/ ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ช่วงเย็นนี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 117.80 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 117.91 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 1.0440 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0398 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,563.58 จุด เพิ่มขึ้น 20.64 จุด (+1.34%) มูลค่าการซื้อขาย 65,155 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 2,222.00 ลบ.(SET+MAI)
  • กระทรวงพาณิชย์ แถลงอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 59 อยู่ที่ 0.19% ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบที่วางไว้ที่ 0-1% โดยอัตราเงินเฟ้อ
ขยายตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4/59 ผลจากการเร่งตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งการขยายตัวของเงินเฟ้อดัง
กล่าวจัดว่าเป็นเงินเฟ้ออย่างอ่อนและอยู่ในเกณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวม ส่วนในปี 60 คาดว่าเงินเฟ้อ
จะอยู่ในกรอบ 1.5-2.0% โดยมีสมมติฐานจาก GDP ปีนี้ขยายตัว 3.0-3.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 45-55 ดอลลาร์/บาร์เรล
และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในช่วง 35.50-37.50 บาท/ดอลลาร์
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดทิศทางเงินเฟ้อในปี 2560 ปรับตัวสูงขึ้นที่เฉลี่ย 1.8% ต่อปี โดยมีราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ที่สูงขึ้นเป็นแรงหนุน โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยในปี 2560 จะอยู่ที่ 50.0 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปี
2559 ที่เฉลี่ย 41.3 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล และแม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในระดับปัจจุบัน (53.6 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ณ
วันที่ 4 มกราคม 2560) จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นผลมาจากการบรรลุข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกและ
ประเทศนอกกลุ่มโอเปกในการลดกำลังการผลิตน้ำมัน แต่ในทางปฏิบัติยังคงต้องติดตามต่อไปว่าประเทศสมาชิกและนอกกลุ่มโอเปกจะ
สามารถทำตามข้อตกลงได้หรือไม่
  • ธนาคารออมสิน เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ประจำไตรมาส 4/59 อยู่ที่
ระดับ 49.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/59 ที่อยู่ในระดับ 49.0 โดยประชาชนระดับฐานรากมีความคาดหวังรายได้ในอนาคตจาก
การดำเนินนโยบายของรัฐบาล ประกอบกับ คณะรัฐมนตรีมีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำภายในประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ของประชาชนฐาน
รากในปี 60 จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเกือบใกล้เคียงกับระดับความเชื่อมั่นปานกลาง
(ระดับ 50)
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ธ.ค.59 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนที่
ระดับ 49.5 มาอยู่ที่ระดับ 50.3 ซึ่งปรับดีขึ้นตามองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ การจ้างงาน และผลประกอบการของผู้ประกอบการใน
ภาคที่ไม่ใช่ภาคการผลิต โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และกลุ่มการค้า ที่ได้รับผลดีจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่
เริ่มทยอยปรับดีขึ้น และมาตรการลดหย่อนภาษีในช่วงปลายปีของรัฐมีส่วนช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค รวมถึงการเริ่ม
กลับมาทำกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดของผู้ประกอบการหลังจากที่งดไปในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้ความเชื่อมั่นปรับดีขึ้นในเดือนนี้
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 8/2559 วัน
ที่ 21 ธ.ค.59 ซึ่งมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว และแรง
ส่งทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านต่าง
ประเทศเป็นหลัก
  • ผลการสำรวจของมาร์กิต อิโคโนมิกส์ ระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตทั่วโลกในเดือนธ.ค.อยู่ที่ระดับ 52.7 เพิ่มขึ้น
จากระดับของเดือนพ.ย.ที่ 52.1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.พ.57 โดยได้ปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของ
ภาคการผลิตในสหรัฐและภูมิภาคยุโรปตะวันตก
  • มาร์กิต อิโคโนมิคส์ เปิดเผยว่า ดัชนีรวมภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซนในเดือนธ.ค.อยู่ที่ระดับ 54.4 ซึ่ง
เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 53.9 เมื่อเดือนพ.ย. ทั้งนี้ ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการยูโรโซนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลข
เบื้องต้น นำโดยกิจกรรมในภาคการผลิต ส่วนภาคบริการได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งเช่นกัน สำหรับประเทศสมาชิกยูโรโซนที่เศรษฐกิจ
ขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดได้แก่ สเปน ตามมาด้วยเยอรมนี
  • สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนพุ่งขึ้น 1.1% ในเดือนธ.ค. ซึ่ง

เป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2013 จากระดับ 0.6% ในเดือนพ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ