(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.ชี้ปรับโครงสร้างในปท.ควบคู่ปรับกลไกภาครัฐจะช่วยขับเคลื่อนศก.ไทยให้เท่าทันสภาพแวดล้อมใหม่ของโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 20, 2017 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0" โดยระบุว่า โลกในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ภายใต้การเชื่อมต่อที่ไร้เส้นแบ่งและการขับเคลื่อนไปท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้สภาพแวดล้อมของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยากที่จะคาดเดาได้ ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดความผันผวนสูง ดังนั้นบริบทใหม่ของโลกจึงเป็นสิ่งที่เราต้องตามและปรับตัวให้ทัน เพราะการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ของโลก นอกจากจะมีความท้าทายแล้วยังมีโอกาสรวมอยู่ด้วย

"ดังเช่นกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกในหลายมิติ ทั้งตลาดการเงินโลก ตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น หลายนโยบายที่สหรัฐฯ จะประกาศในคืนนี้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงนั้น จะมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเงินของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" นายวิรไท กล่าว

โดยมองว่า Mega Trend ที่มีนัยสำคัญต่อสภาวะของโลก มี 4 ด้าน คือ 1. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังสร้างความท้าทายให้ธุรกิจบางประเภทต้องตกขบวนไปด้วย เช่น ฟิล์มถ่ายรูป เครื่องรับ-ส่งโทรสาร (FAX) และการให้บริการโทรศัพท์ทางไกล เป็นต้น 2. การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากร ซึ่งหลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีข้อมูลว่าปี ค.ศ.2040 โลกจะมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี ในสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรโลก จากปี ค.ศ.2015 ที่ประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี มีสัดส่วนเพียง 12% เท่านั้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายต่อเศรษฐกิจและสังคมของโลก เพราะมีผลกระทบต่อตลาดแรงงาน, การบริโภค, การออม และรายจ่ายภาครัฐ

3. เมืองใหม่ ซึ่งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะทำให้เมืองรองหลายเมืองก้าวขึ้นไปเป็นเมืองใหญ่ และมาพร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ดีขึ้น แต่ในอีกด้านนั้นจะทำให้เกิดการหลั่งไหลของแรงงานเข้าสู่เมืองใหญ่ กลายเป็นเมืองที่มีความแออัด วิถีชีวิตที่เร่งรีบ และขาดเวลาในการดูแลเอาใจใส่ครอบครัว และ 4. กฎเกณฑ์กติกาที่เป็นมาตรฐานโลก ซึ่งกฎเกณฑ์ของประเทศใหญ่จะกลายมาเป็นมาตรฐานของทั้งโลกมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบกติกาที่รวดเร็วอย่างไร้พรมแดนนี้ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

"การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งถือเป็น Mega Trend นี้กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นการปรับตัวจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่เราต้องทำ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้" นายวิรไท กล่าว

ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเงินให้เท่าทันโลกนั้น จะต้องดำเนินการในเรื่องสำคัญ คือ 1.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและแนวทางในการบริหารจัดการเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนาประเทศคงไม่ใช่การมุ่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้สูงเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ กระจายผลประโยชน์ไปอย่างทั่วถึง และมีการพัฒนาที่ยังยืน

2.การปรับกลไกการทำงานของภาครัฐ โดยจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์และกติกาของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้จะต้องปรับกลไกการทำงานของภาครัฐให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันภาครัฐควรต้องลดบทบาทที่ไม่จำเป็นลง โดยทำหน้าที่เพียงการกำกับดูแล และให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจและการแข่งขันให้มีศักยภาพมากขึ้น

นายอำพล โพธิโลหะกุล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า การพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัล และการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง Smart Phone ได้นั้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการของธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจสิ่งพิมพ์, ธุรกิจสถาบันการเงินที่ทำให้จำเป็นต้องปรับตัว โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์เองนั้น ด้วยความที่มีกฎระเบียบค่อนข้างมาก และการดำเนินงานที่ต้องมีความรัดกุม จึงอาจทำให้การให้บริการในบางส่วนยังล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะเกิด Start Up แบบใหม่ขึ้น เช่น FinTech ที่มีการพัฒนาระบบการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ซึ่งธนาคารกสิกรไทยมองว่าจะต้องมีความร่วมมือกันระหว่างธนาคารกับ Start Up ที่เป็น FinTech ในการให้ FinTech เหล่านี้ได้เข้ามาทดลองและร่วมกันพัฒนาการให้บริการใหม่ๆ ออกมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเป็นหลัก และช่วยให้เกิดรายได้ใหม่ ทำให้ Start Up และธนาคารประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจไปด้วยกัน

"เราก็ต้องยอมรับว่าเราเชื่องช้าไป ดังนั้นโจทย์สำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะตอบสนองและปรับตัวได้เร็ว แบบที่ Start Up ทำได้ดี แต่ขณะเดียวกัน Start Up ก็มีโจทย์ว่าจะเข้าถึงฐานลูกค้าจำนวนมากได้อย่างไร และทำให้ลูกค้ามั่นใจในบริการเหล่านั้นได้อย่างไร" นายอำพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ