นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ยังใช้การลงทุนภาครัฐเป็นตัวนำ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งหากเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเป็นจำนวนมากก็จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีขึ้น โดยรัฐบาลจะเน้นการปรับโครงสร้างประเทศเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0
ขณะที่การจัดสรรงบประมาณจะเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกลไกจังหวัดทั้ง 18 กลุ่ม ซึ่งในวันพรุ่งนี้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการพิจารณางบเพิ่มเติมวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท โดยตั้งวงเงินกู้เพิ่มไว้ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหาหนี้สาธารณะ เนื่องจากนับถึงสิ้นเดือน ธ.ค.สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 42% ของจีดีพี
รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการกระจายงบประมาณลงสู่จังหวัดมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเป็นการทำงานร่วมกันของผู้ว่าราชการจังหวัดกับภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อพิจารณาโครงการที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น โดยกำหนดกรอบงานไว้ 5 ประการ คือ 1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน 2.โครงการพัฒนาด้านการเกษตร 3.โครงการท่องเที่ยว 4.โครงการดูแลสังคม และ 5.โครงการขนาดใหญ่
"เมื่อมีการกระจายงบลงไปจะช่วยให้เศรษฐกิจท้องถิ่นดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น โดยรัฐบาลพร้อมที่จะจัดสรรงบให้กับจังหวัดเพิ่มเติมในปีงบ 61 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานที่ค้างอยู่" นายอภิศักดิ์ กล่าวรมว.คลัง กล่าวว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเชื่อว่าปีนี้จะมีการเบิกจ่ายงบสำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้ราว 2.3 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สีแดง สีชมพู สีเหลือง รวมถึงรถไฟรางคู่ และระบบบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ
รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าในปีนี้การลงทุนภาคเอกชนจะไม่ขยายตัวนั้น อาจเป็นในส่วนของภาคเอกชนไทย ขณะที่ต่างชาติยังให้ความสนใจในการลงทุนเพิ่ม ส่วนกรณีที่ ครม.ขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศอีก 1 ปีนั้นเป็นไปตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชน ซึ่งต้องดูว่าจะมีการลงทุนจริงหรือไม่
รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีที่สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) นั้นอาจส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มดังกล่าว ขณะที่การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) อาจมีความโดดเด่นขึ้นมา และเป็นตัวนำในอนาคต