นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา "กลุ่มจังหวัด-คลัสเตอร์โมเมนตั้มใหม่ เศรษฐกิจไทยสู่ระดับโลก" ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ยังใช้การลงทุนภาครัฐเป็นตัวนำ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งหากเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเป็นจำนวนมากก็จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีขึ้น โดยรัฐบาลจะเน้นการปรับโครงสร้างประเทศเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0
ขณะที่การจัดสรรงบประมาณจะเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกลไกจังหวัดทั้ง 18 กลุ่ม ซึ่งในวันพรุ่งนี้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการพิจารณางบเพิ่มเติมวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท โดยตั้งวงเงินกู้เพิ่มไว้ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหาหนี้สาธารณะ เนื่องจากนับถึงสิ้นเดือน ธ.ค.สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 42% ของจีดีพี
รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการกระจายงบประมาณลงสู่จังหวัดมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเป็นการทำงานร่วมกันของผู้ว่าราชการจังหวัดกับภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อพิจารณาโครงการที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น โดยกำหนดกรอบงานไว้ 5 ประการ คือ 1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน 2.โครงการพัฒนาด้านการเกษตร 3.โครงการท่องเที่ยว 4.โครงการดูแลสังคม และ 5.โครงการขนาดใหญ่
"เมื่อมีการกระจายงบลงไปจะช่วยให้เศรษฐกิจท้องถิ่นดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น โดยรัฐบาลพร้อมที่จะจัดสรรงบให้กับจังหวัดเพิ่มเติมในปีงบ 61 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานที่ค้างอยู่" นายอภิศักดิ์ กล่าวรมว.คลัง กล่าวว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเชื่อว่าปีนี้จะมีการเบิกจ่ายงบสำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้ราว 2.3 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สีแดง สีชมพู สีเหลือง รวมถึงรถไฟรางคู่ และระบบบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ
รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าในปีนี้การลงทุนภาคเอกชนจะไม่ขยายตัวนั้น อาจเป็นในส่วนของภาคเอกชนไทย ขณะที่ต่างชาติยังให้ความสนใจในการลงทุนเพิ่ม ส่วนกรณีที่ ครม.ขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศอีก 1 ปีนั้นเป็นไปตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชน ซึ่งต้องดูว่าจะมีการลงทุนจริงหรือไม่
รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีที่สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) นั้นอาจส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มดังกล่าว ขณะที่การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) อาจมีความโดดเด่นขึ้นมา และเป็นตัวนำในอนาคต
นายคณิศ แสงสุพรรณ กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ กรรมการชี้นำยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานอุตสาหกรรม (SPRING Board) กล่าวในหัวข้อ "เขตเศรษฐกิจพิเศษ การเติบโตครั้งใหม่ของไทย"ว่า ในปัจจุบันพบว่าการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมไม่ทำให้ประเทศเดินหน้าได้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับพื้นที่เป็นการเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวกระโดดได้ และมองว่าโครงการนี้จะเกิดการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี และส่งผลให้ GDP ขยายตัวได้ปีละ 5% ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่มากกว่า 100,000 อัตราต่อปี มีฐานภาษีใหม่ 1 แสนบาทต่อปี นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 ล้านคนต่อปี และลดต้นทุนการขนส่งได้ 4 แสนบาทต่อปี
ปัจจุบันโครงการ EEC ยังอยู่ระหว่างร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจะมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2560 แต่ระหว่างนี้รัฐบาลได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งคณะทำงาน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยจะเริ่มการลงทุนภายในปีนี้
สำหรับโครงการดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อผลักดันไทยแลนด์ 4.0 แบบก้าวกระโดด ในโครงการดังกล่าวจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น การสร้างสนามบินอู่ตะเภา, อุตสาหกรรมอากาศยาน, ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ, ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3, รถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์สายใหม่ พร้อมกับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสูง และเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต เช่น ยานยนต์อัจฉริยะ, อิเล็กทรอนิกส์หุ่นยนต์และหุ่นยนต์, ปิโตรเคมีขั้นสูง และอุตสาหกรรมชีวภาพและอาหารแห่งอนาคต นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาการท่องเที่ยวและการสร้างเมืองใหม่ เพื่อรองรับนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วย
ด้านนายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้น จำกัด (APM) กล่าวในหัวข้อ "คลัสเตอร์ เชื่อมอาเซียน" ว่า การขยายกิจการเบื้องต้นนั้นให้มองเป็นการขยายกิจการในประเทศไทย 77 จังหวัด บวก 4 คือ ประเทศที่สามารถเดินทางในระยะเวลา 1 ชั่วโมง คือ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยให้มองในธุรกิจขนส่ง, สุขภาพและความงาม,ท่องเที่ยว, ต่อเรือและอู่ซ่อมเรือ รวมไปถึงวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นกิจการที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะในส่วนของวัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง ที่ประเทศในกลุ่ม CLMV ยังมีความต้องการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก
อย่างไรก็ตาม การจะเข้าไปลงทุนนั้นขนาดของบริษัทนั้นต้องมีขนาดกลางขึ้นไป หรือมียอดขายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดยต้องมีการปรับมาตรฐานทางบัญชีให้เป็นสากล ต่อมาคือการสร้างความไว้วางใจกับพันธมตรที่จะเข้าไปร่วมขยายกิจการร่วมกัน และสุดท้ายคิอต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่ประเทศเหล่านั้นมีความต้องการ
"การที่เราจะขยายกิจการไปยังต่างประเทศ และสิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการขยายกิจการไปยัง CLMV และต่อไปคือกลุ่ม AEC เราต้องปรับกระบวนการคิดก่อนว่าการเดินทางไม่มีปัญหาในระยะการเดินทางเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมงเป็นไปได้ ซึ่งจะทำให้เราเจรจากับพันธมิตรและมีโอการสในการทำธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น"นายสมภพ กล่าวทั้งนี้มองประเทศที่ขนาดเล็กก่อน เนื่องจากยังสามารถขยายได้อีกมาก และยังคงต้องการการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย และมีหลายๆอย่างที่น่าสนใจ ในขณะเดียวกันปัจจุบันทางรัฐบาลเองก็ได้มีการสนัลสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางด่านภาษี ในหลายๆอุตสาหกรรมอีกด้วย
ถัดมาคือ สปป.ลาว ที่ปัจจุบันมีการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ถึง 12-13 โครงการ โดยเฉพาะในโครงการที่เป็นหลวงพระบางเมืองใหม่ ซึ่งมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาด 2,400 ไร่ ห่างจากเมืองหลวงพระบาง 8 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังจะมีโครงการรถไฟฟ้า ที่จะเชื่อมต่อประเทศจีน ผ่านหลวงพระบาง มายังเวียงจันทน์ และมาสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย ของประเทศ ซึ่งจะก่อสร้างแล้สเสร็จในปี 62 จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว วัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง และอื่นๆอีกมาก
"การลงทุนที่เป็นขนาด SME นั้น เรามองการลงทุนในกัมพูชา และสปป.ลาว เป็นหลัก เพราะการจะไปบุกประเทศอื่นๆใน AEC ที่เป็นขนาดใหญ่แล้วคงยาก เพราะการลงทุนก็คงต้องเป็นขนาดใหญ่ตามไปด้วย การที่เป็นขนาดกลางก็ต้องไปหาประเทศที่มี GDP ไม่มากก่อน จึงจะสามารถเข้าไปลงทุนได้ง่าย"นายสมภพ กล่าว