ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 35.25/29 ทรงตัวจากช่วงเช้า นลท.รอดูผลประชุม FOMC กลางสัปดาห์ คาดกรอบพรุ่งนี้ 35.25-35.35

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 30, 2017 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.25/29 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียง จากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 35.24/26 บาท/ดอลลาร์

ระยะนี้เงินบาทยังคงทรงตัว โดยคาดว่านักลงทุนรอดูผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ของธนาคาร กลางสหรัฐ (FOMC) ในระหว่างวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.นี้ก่อนว่าจะมีมติเรื่องอัตราดอกเบี้ยอย่างไร แต่ส่วนใหญ่แล้วตลาดเชื่อว่า การประชุม FOMC รอบนี้จะยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ย

"ช่วงนี้บาทค่อนข้างทรงๆ รอดูผลประชุม FOMC กลางสัปดาห์นี้ก่อน แต่ตลาดเชื่อว่าน่าจะคงดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม เพราะ ไม่น่าจะปรับขึ้น 2 ครั้งติดต่อกัน แต่ถ้าเกิดมีอะไรที่ surprise ตลาด บาทก็อาจจะอ่อนค่าลงได้" นักบริหารเงิน ระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.25 - 35.35 บาท/ดอลลาร์

ล่าสุด THAI BAHT SPOT RATE FIXING อยู่ที่ระดับ 35.2683 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ช่วงเย็นนี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 114.71 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 114.40 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0691 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0730 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,590.56 จุด ลดลง 0.24 จุด (-0.02%) มูลค่าการซื้อขาย 41,327 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 10.89 ลบ.(SET+MAI)
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 60 ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว
ในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.6% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.1-4.1%) จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโตได้ราว 3.4% และมีโอกาสที่จะ
ขยายตัวได้ถึงระดับ 4% หากงบรายจ่ายกลางปีที่จัดทำเพิ่มเติม 1.9 แสนล้านบาท สามารถเบิกจ่ายได้ครบถึง 100% และหากจำนวน
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทยเกินกว่าเป้าหมายก็จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการส่งออกหากเติบโตได้เกินกว่า
เป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ก็จะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจไทยได้มากเช่นกัน
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจทั้งปี 59 เติบโตได้ราว 3.2% จากการใช้จ่ายภาครัฐ
เป็นปัจจัยสนับสนุนและกานบริโภคเอกชนเริ่มฟื้นตัว ขณะที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมั่นใจได้ว่าจะขยายตัวดีขึ้น สะท้อนจาก
ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงค์จากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
  • ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ตั้งเป้าหมายยอดสินเชื่อขนาดใหญ่ปี 60 เติบโต 4-6% จากสิ้นปี 59 ผลการดำเนิน
งานของสายงานธุรกิจลูกค้าบรรษัทซึ่งดูแลลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ เติบโตกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศอาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินไทยเพิ่มขึ้น โดยแม้
การส่งสัญญาณถึงการคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงนี้ น่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านการชะลอแรงกดดันต่อการ
ปรับขึ้นของต้นทุนการเงิน ขณะเดียวกันก็อาจจะส่งผลให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ากลับมาบางส่วน แต่คงต้องยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
ข้างต้น อาจจะส่งผลให้ตลาดการเงินไทนผันผวนตามจังหวะของแต่ละเหตุการณ์ อันคงเป็นความท้าทายในช่วงต้นปีระกาที่ต้องรับมือแต่
เนิ่นๆ ไล่เรียงจากการเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในยุโรป โดยเฉพาะใน
ช่วงที่สหราชอาณาจักรจะเริ่มกระบวนการออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในช่วงปลายไตรมาสที่ 1/60 และสถานการณ์การ
ไหลออกของเงินทุนในจีนที่อาจจะสร้างความกังวลรอบใหม่
  • กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือน
ที่ 2 ในเดือนธ.ค. สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากมาตรากระตุ้นเศรษฐกิจโดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของนายก
รัฐมนตรีชินโซ อาเบะ
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เริ่มการประชุมนโยบายการเงินซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันแล้วในวันนี้ โดยมีการคาด
การณ์ในวงกว้างว่า แบงก์ชาติญี่ปุ่นจะปรับเพิ่มแนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
และเงินเยนที่ร่วงลงมีส่วนช่วยกระตุ้นการส่งออกและการผลิต
  • นักลงทุนรอดูการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ โดยทางฝั่งสหรัฐ เช่น การประชุม FOMC, ดัชนีความ

เชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือน ธ.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต และ

ภาคบริการเดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ส่วนทางฝั่งสหภาพยุโรป เช่น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.

ค., จีดีพี ไตรมาส 4/59, อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค., อัตราเงินเฟ้อเบื้องต้นเดือน ม.ค. เป็นต้น ส่วนฝั่งญี่ปุ่น เช่น ผลการ

ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น, ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค. และอัตราการว่างเงินเดือน ธ.ค. เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ