พาณิชย์ เตือนผู้ส่งออกเตรียมรับมือหลังอียูใช้มาตรการจำกัดใช้สาร Bisphenol A (BPA) มีผล 2 ม.ค.63

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 7, 2017 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ รายงานว่าคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ประกาศให้สารเคมี Bisphenol A (BPA) เคลือบกระดาษเทอร์มอล (Thermal Paper) ที่มีความเข้มข้นเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 0.02 โดยน้ำหนัก อยู่ในบัญชีรายชื่อสารเคมีที่ถูกจำกัดการใช้(Restriction List) ซึ่งเป็นบัญชีแนบท้าย 17 (Annex XVII) ของกฎระเบียบ REACH ตามข้อเสนอของฝรั่งเศส โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ทำให้จำนวนรายชื่อสารเคมีที่ถูกจำกัดการใช้ในบัญชี ณ ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 66 รายการ

โดยสารเคมีดังกล่าวนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตใบเสร็จรับเงินที่สามารถทำให้กระดาษแสดงผลเป็นสิ่งที่ขีดเขียนเมื่อผ่านความร้อน ขณะเดียวกันอาจส่งผลเสียต่อความปลอดภัยของเด็กในครรภ์ของพนักงานเก็บเงินและผู้บริโภคได้ จึงได้กำหนดปริมาณความเข้มข้นของการใช้สารเคมีดังกล่าว ซึ่งผู้ส่งออกของไทยที่มีการผลิตและส่งออกสินค้าดังกล่าวจะต้องเร่งศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกในอนาคต

สำหรับกฎระเบียบ EU REACH เป็นมาตรการจัดการสารเคมีภายใน EU ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 โดยกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้นำเข้าสารเคมี และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีมายัง EU จะต้องร่วมกันรับผิดชอบเพื่อใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย

โดยการดำเนินการภายใต้ระเบียบมีกลไก ดังนี้ 1.จดทะเบียนสารเคมี (Registration : R) สำหรับสารเคมีที่มีการผลิตหรือนำเข้าเกินกว่า 1 ตันต่อปี 2.หน่วยงานจัดการเคมีภัณฑ์ของสหภาพยุโรป (European Chemicals Agency : ECHA) จะประเมินความเสี่ยงของสารเคมี (Evaluation : E) ว่าเป็นสารเคมีอันตรายและมีความน่ากังวลสูง (Substances of Very High Concerns : sVHC) หรือไม่ เพื่อจัดให้สารเคมีดังกล่าวอยู่ในบัญชีสารเคมีควบคุม (Candidate List) ที่ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าสารเคมี sVHC เกิน 1 ตันต่อปี หรือมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมี sVHC มากกว่าร้อยละ 0.1 โดยน้ำหนักต้องจดแจ้ง (Notification) ต่อ ECHA 3.ในกรณีที่พบว่า สารเคมี sVHC นั้น มีระดับความเสี่ยงสูง แต่ยังอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ ให้จัดอยู่ในบัญชีรายชื่อสารเคมีควบคุม (Authorization List : A) ที่ต้องขออนุญาตใช้งานสารเคมีดังกล่าว และ 4.ในกรณีที่สารเคมีนั้นมีความเสี่ยงสูงถึงขั้นไม่สามารถรับได้จนต้องห้ามใช้งานให้จัดอยู่ในบัญชีรายชื่อสารจำกัดการใช้ (Restriction List) สารเคมี (CHemicals)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ