พาณิชย์ ลุ้นผลสหรัฐฯ เลื่อนสถานะไทยมาอยู่กลุ่ม WL ในเม.ย.นี้ หลังคงสถานะ PWL เป็นเวลา 10 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 17, 2017 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดอันดับสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ประจำปี 2560 ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) จะประกาศผลสิ้นเดือน เม.ย.นี้ ว่า ภาคเอกชนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในสหรัฐฯ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพันธมิตรทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (IIPA) ประกอบด้วย ค่ายภาพยนตร์ฮอลลีวูด ค่ายเพลงชั้นนำของโลก บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านบันเทิง และเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือ รวมถึงกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (BSA) ประกอบด้วย บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ ได้เสนอให้ USTR จัดอันดับไทยอยู่ในสถานะที่ดีขึ้น โดยเสนอให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) จนถึงปัจจุบัน

"USTR จะรับฟังและประมวลความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ข้อมูลของรัฐบาลประเทศคู่ค้า และภาคเอกชนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐฯ หลังจากนั้นจะประกาศสถานะประเทศคู่ค้าในสิ้นเดือนเมษายน แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร หน่วยงานภาครัฐของไทยได้ร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่ในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้ค้าและนักลงทุน รวมถึงเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจและสังคมไทยที่มุ่งขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี โดยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเหมาะสม ถือเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันนโยบายนี้" นายทศพล กล่าว

โดย IIPA ระบุว่า พอใจที่ไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ให้ครอบคลุมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และการละเมิดบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต, การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน, การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาทั้งระบบ รวมถึงการป้องปรามการละเมิด และการสนับสนุนให้ภาพยนตร์ต่างประเทศมาถ่ายทำในไทย โดยการคืนเงินค่าใช้จ่าย 20% ให้แก่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ ขณะที่ BSA พอใจการประสานงานร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

"นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีที่ IIPA เสนอให้ไทยอยู่ในกลุ่ม WL จากก่อนหน้านี้เสนอให้ไทยอยู่ในกลุ่ม PWL มาโดยตลอด" นายทศพล กล่าว

อย่างไรก็ตามยังมีภาคเอกชนกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มพันธมิตรต่อต้านการปลอมระหว่างประเทศ (IACC), สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งสหรัฐฯ (PhRMA) และองค์กรอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (BIO) ที่เสนอให้คงสถานะไทยในบัญชี PWL เช่นเดิม โดยต้องการให้ไทยยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้สูงขึ้น เช่น การให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรที่ครอบคลุมมากขึ้น การให้ความคุ้มครองข้อมูลผลการทดสอบยาอย่างเข้มงวด การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ