(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจไทย ม.ค.โตต่อเนื่องจากแรงหนุนใช้จ่ายภาครัฐ-ส่งออก-ท่องเที่ยวฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 28, 2017 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.60 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายภาครัฐ ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวดี ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวชะลอลงบ้างหลังเร่งไปมากในเดือนก่อน และมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของภูมิภาค ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนชะลอหลังมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงปลายปี 59 สิ้นสุดลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาน้ามันขายปลีกในประเทศและราคาอาหารสด ส้าหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงจากดุลบริการเนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับดุลการค้ายังเกินดุลต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธปท. เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค.60 การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวดีและยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวดีตามค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ส่วนหนึ่งเลื่อนการเบิกจ่ายมาจากเดือนก่อน ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวชะลอลงบ้างหลังเร่งไปมากในเดือนก่อน โดยในเดือนนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านคมนาคม รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณปี พ.ศ.2559 เพิ่มเติม ด้านการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ด้านรายได้จัดเก็บของรัฐบาลกลับมาขยายตัวจากรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนน้าส่งรายได้ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจากเดือนกุมภาพันธ์มาเป็นเดือนมกราคมสำหรับรายได้จากภาษีขยายตัวต่อเนื่องสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัว 8.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน จาก 1) สินค้าที่อุปสงค์ต่างประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกในภูมิภาค 2) สินค้าที่ราคาส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบขยายตัวต่อเนื่อง จากผลของฐานที่ต่ำและทิศทางราคาน้ามันดิบในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งปริมาณการส่งออกไปจีนปรับเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสินค้าปิโตรเคมี

3) หมวดที่ได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตต่างชาติมาไทย อาทิ ยางล้อรถยนต์ และแผงกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขยายตัวต่อเนื่องจากการที่ผู้ผลิตจีนย้ายฐานการผลิตมาไทยเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) จากสหรัฐฯ และสมาร์ทโฟนที่การส่งออกไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และ 4) การส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางไปจีนขยายตัวต่อเนื่องจากทั้งปริมาณที่ผู้นำเข้าจีนเร่งน้าเข้าเพื่อสะสมสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และราคาที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ รวมทั้งได้รับผลกระทบจากอุปทานที่ลดลงจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่การผลิตเพื่อการส่งออกในหลายสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง

ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนขึ้นโดยขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ 6.5% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายในช่วงก่อนหน้าเริ่มเดินทางกลับเข้ามาเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งคาดว่าได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นและลดค่าธรรมเนียมวีซ่า รวมทั้งในเดือนนี้ตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน เมื่อขจัดผลของฤดูกาลแล้วจ้านวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 6.9% จากเดือนก่อนจากนักท่องเที่ยวในเกือบทุกกลุ่มสัญชาติ

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน ทั้งการลงทุนในภาคการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน และภาคบริการโดยเฉพาะธุรกิจบริการและขนส่งสอดคล้องกับสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวในธุรกิจดังกล่าว

ธปท.ระบุว่า การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงหลังจากเร่งขึ้นค่อนข้างมากในเดือนก่อนหน้าที่ได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวของภาครัฐ สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคที่เร่งขึ้นในช่วงดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเลื่อนการบริโภคของประชาชนโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลกลับมาขยายตัวได้เนื่องจากได้รับผลดีจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่

ด้านปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนโดยรวมอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวแต่ยังไม่เข้มแข็งนัก โดยรายได้เกษตรกรขยายตัวแต่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในบางสินค้าและบางพื้นที่ อาทิ เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลดีจากราคาและอุปสงค์จากจีนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีอุปทานเพียงพอรองรับความต้องการ ขณะที่รายได้เฉลี่ยที่แท้จริงของครัวเรือนนอกภาคเกษตรกรรมยังไม่ฟื้นตัว

สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 11.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยในเดือนนี้มีการนำเข้าทองคำมูลค่า 1,203 ล้านดอลลาร์ สรอ. หากไม่รวมทองค้ามูลค่าการนำเข้าขยายตัวลดลงเหลือ 5.4% โดยหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวจากสินค้าเชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ และโลหะที่ราคาในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น และสินค้าชิ้นส่วนแผงวงจรรวมขยายตัวตามการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.55% สูงขึ้นจาก 1.13% ในเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวตามต้นทุนโดยรวมและแรงกดดันจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังต่ำ อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงจากดุลบริการฯ เป็นสำคัญ จากรายรับภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล ประกอบกับเดือนนี้ตรงกับเทศกาลตรุษจีน

ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจาก 1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) 2) การได้รับชำระคืนเงินกู้ในเครือของภาคธุรกิจไทย และ 3) การเข้าซื้อหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมีความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองในกลุ่มยูโรที่ยังไม่มีความชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ