ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 35.30/32 ทรงตัวรอปัจจัยใหม่ จับตาผลประชุม FOMC คาดกรอบพรุ่งนี้ 35.25-35.35

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 14, 2017 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.30/32 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัว จากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 35.30/32 บาท/ดอลลาร์

ตลอดทั้งวันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวแคบมาก เพราะไม่มีปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ตลาด move ได้ เนื่องจากนักลงทุนรอติดตาม ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ช่วงวันที่ 14-15 มี.ค. ซึ่งจะทราบผลในช่วง เช้าวันพฤหัสนี้ตามเวลาในไทย

"วันนี้ตลาดค่อนข้างเงียบๆ บาทอยู่ในกรอบแคบ ไม่มีปัจจัยอะไรมา move แรงๆ เพราะตลาดรอผลประชุม FOMC บ้าน เราน่าจะรู้ผลวันพฤหัสเช้า" นักบริหารเงิน ระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบที่ 35.25 - 35.35 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ช่วงเย็นนี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 115.07/10 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 114.79/80 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0639/0640 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0658/0659 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,543.15 จุด เพิ่มขึ้น 7.64 จุด (+0.50%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 49,875 ล้านบาท
  • ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทสิ้นปี 60 มาอยู่ที่ 35.70 บาท/
ดอลลาร์ จากเดิมที่ 36.50 บาท/ดอลลาร์ โดยเป็นผลมาจากการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีการเกินดุลอยู่ในระดับที่สูง เพราะ
เอกชนมีการชะลอตัวการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การนำเข้าลดลง ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงไม่มากจากที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้ง
ตลาดได้รับทราบและคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไปมาก ทำให้มีการไหลออกของเงินทุนไป
ค่อนข้างมากแล้ว
  • ธนาคารกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยคาดว่าจะปรับขึ้น 2 ครั้งในปีนี้ คือ เดือน
มี.ค.และ พ.ย.จากเดิมที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ เพราะมองว่าหากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ เร็วเกินไป จะทำให้
เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่กลับเข้าสหรัฐฯมากขึ้น และทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
ของสหรัฐฯ เอง

ขณะที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ในระดับที่ 1.50% ต่อไปทั้งปีนี้ เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งหากลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก จะมีผลให้เงินไหลออกไปลงทุนยังสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กังวล หรือหากจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้

  • สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อ
ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง หรือเคลื่อนไหวประมาณ 35.5 – 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาสั้น ๆ ได้ ซึ่งนับเป็น
โอกาสที่ดีของภาคการส่งออก เนื่องจากราคาสินค้าไทยจะถูกลงในมุมมองของต่างประเทศ ประกอบกับ ประกอบกับมูลค่าการส่งออก
ของไทยไปยังสหรัฐฯที่มากถึง 7% ของมูลค่าการส่งออกรวม ทำให้มูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นได้ และเป็นผลดีต่อภาค
การท่องเที่ยวไปด้วยเช่นกัน
  • การประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G20 มีกำหนดเปิดฉากขึ้นในวันที่ 17-18 มี.ค.
ที่เมืองบาเดน-บาเดน ของเยอรมนี เป็นการประชุมครั้งแรกของนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐคนใหม่ นับตั้งแต่เข้ารับ
ตำแหน่งเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
  • นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ มีแผนจัดการประชุมกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ระหว่างวันที่ 6-7
เมษายนนี้ ที่เมืองปาล์มบีช ในรัฐฟลอริด้า ซึ่งแผนการจัดการประชุมสุดยอดดังกล่าวขึ้นในช่วงที่มีภาวะตึงเครียดเกิดขึ้นในภูมิภาค
เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ และการ ที่สหรัฐตำหนิจีนเกี่ยวกับการ
ค้าและการได้ดุลการค้าของจีนเมื่อค้าขายกับสหรัฐ
  • ค่าเงินปอนด์ดิ่งลงในวันนี้ เมื่อเทียบกับดอลลาร์และยูโร โดยเมื่อเวลา 17.08 น.ตามเวลาไทย ปอนด์ร่วงลง
0.76% สู่ระดับ 1.2125 ดอลลาร์ และอ่อนค่าลง 0.64% สู่ระดับ 0.8774 ยูโร ทั้งนี้เงินปอนด์ร่วงลงหลังจากที่รัฐสภาอังกฤษให้
การรับรองร่างกฎหมายว่าด้วยการนำอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งจะเป็นการปูทางให้นางเทเรซา เมย์ นายก
รัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนของสหภาพยุโรป (EU) เพื่อเริ่มต้นกระบวนการ Brexit
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ภาคบริการของจีนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนแรก
ของปีนี้ โดยดัชนีผลผลิตภาคบริการ (Index of Services Production) ซึ่งเป็นดัชนีตัวใหม่ที่จีนนำมาใช้วัดความเจริญเติบโต
ของภาคบริการนั้น ขยายตัว 8.2% และขยายตัวสูงกว่าในเดือนธ.ค.59 อยู่ 0.1 จุด

ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ NBS ได้นำเครื่องมือชี้วัดที่มีความครอบคลุมมาใช้วัดอัตราการเติบโตของภาคบริการในประเทศ โดยดัชนีใหม่นี้สามารถบ่งชี้ความเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นของภาคบริการ และช่วยให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายและบริษัทต่างๆ สังเกต แนวโน้มของอุตสาหกรรมก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ ได้

  • นักลงทุนจับตาแถลงการณ์หลังการประชุมเฟด ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางการปรับขึ้นอัตรา
ดอกเบี้ยของเฟดต่อไปในปีนี้ และข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.พ., ดัชนีภาคการ
ผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนมี.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, ยอดค้าปลีกเดือนก.พ., ดัชนีราคาผู้บริโภค
(CPI) เดือนก.พ., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนเดือนม.ค., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมี.ค. จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ
(NAHB), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนก.พ., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, การผลิตภาค
อุตสาหกรรมเดือนก.พ.และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ