(เพิ่มเติม) ADB คงคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้โต 3.5% ก่อนขยายตัวเพิ่มเป็น 3.6% ในปี 61

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 20, 2017 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประจำประเทศไทย ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 60 จะขยายตัว 3.5% และ 3.6% ในปีถัดไป เนื่องจากการขยายตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก การบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง ตลอดจนการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ราคาข้าวในตลาดโลกที่ค่อยๆปรับขึ้นจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ADB กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 60 จะขยายตัวที่ระดับ 3.5% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ปัญหาภัยแล้งหมดไป การลงทุนภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และการผลักดันโครงการ EEC ส่วนในปี 61 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ระดับ 3.6%

"ปีนี้โต 3.5% น่าจะทำได้ และเป็นโมเมนตัมต่อเนื่องไปถึงปีหน้าให้โตได้ 3.6%" นางลัษมณ กล่าว

พร้อมประเมินว่า ภาคการส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 59 โดยในเดือนม.ค.60 ขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับ 8.5% โดยคาดว่าตัวเลขการส่งออกในปีนี้จะกลับมาอยู่ในแดนบวกและคาดว่าจะค่อยๆขยายตัวขึ้นในปีถัดไป โดยคาดว่าปี 60 จะขยายได้ราว 3% ขณะที่ในปี 61 จะขยายตัวได้ราว 4% โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวได้ดี ในยุค"อินเตอร์เน็ตคือทุกสิ่ง"

การนำเข้าสินค้า คาดว่าจะขยายตัวควบคู่ไปกับการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ความต้องการปัจจัยในการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน เมื่อการนำเข้าสินค้าเริ่มขยายตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเริ่มลดลงจากระดับ 11.4% ของ GDP ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 9.0% ของ GDP ในปีนี้ และ 7.0% ของ GDP ในปี 61

ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ จะมีมูลค่าเพียง 11% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคเอเชียได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกไทย นโยบายกีดกันการค้าและการตั้งกำแพงภาษีต่อประเทศจีนจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์และเครื่องจักร

ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง อย่างไรก็ดี สถานะเงินสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งสามารถช่วยรองรับความไม่แน่นอนดังกล่าวได้

ทางด้านอุปสงค์ หากการเบิกจ่ายเงินลงทุนและการดำเนินโครงการลงทุนของรัฐล่าช้า รวมทั้งหากโครงการภายใต้ประเทศไทย 4.0 ไม่ขับเคลื่อน จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม

ส่วนปัญหาความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีนั้น มองว่าไม่น่าจะเกิดความรุนแรง แต่จะส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันเกิดความผันผวน

สำหรับสถานการณ์การเมืองในประเทศนั้น ตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้ คือจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 61 แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่สิ่งสำคัญที่มองเห็นคือความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของไทย ส่วนผลสัมฤทธิ์จะมีมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งหากเกิดการสะดุดก็อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตของประเทศได้

นางลัษมณ กล่าวว่า การที่รัฐบาลชูนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะช่วยแก้ปัญหากับดักประเทศรายได้ปานกลางเพื่อนำประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าการพัฒนาความพร้อมในแต่ละด้านจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนอกเหนือจากเรื่องถนนหนทางแล้วยังมีเรื่องระบบไอที พลังงานไฟฟ้าสำรอง, การพัฒนาเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ยังขาดการเชื่อมโยงไปสู่การผลิต, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ, การปฏิรูปองค์กรภาครัฐ, การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

"ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ อาจต้องเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อทดแทนแรงงานวัยหนุ่มสาวที่มีสัดส่วนลดลง" นางลัษมณ กล่าว

ADB คาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะเติบโต 5.7% ในปี 60 และปี 61 ซึ่งลดลงจากปี 59 โดยความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของเอเชีย ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเงินทุนไหลออก ถึงแม้ความเสี่ยงดังกล่าวได้รับการบรรเทาลงจากสภาพคล่องอันล้นเหลือทั่วทั้งภูมิภาค ทั้งนี้ ผลกระทบจากนโยบายทางการเงินตึงตัวน่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้รัฐบาลต่างๆ ในเอเชียและแปซิฟิกมีเวลาเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเพียงพอ

ส่วนเศรษฐกิจที่มีอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวอาจประสบกับภาวะค่าเงินที่ลดต่ำลงมากขึ้น และตามด้วยเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันการบริหารค่าเงินอาจทำให้ความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาสินคาส่งออกลดต่ำลง ส่วนหนี้ครัวเรือนในประเทศของเศรษฐกิจเอเชียบางประเทศอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ