สศค.เผยเศรษฐกิจภูมิภาค Q1/60 โตต่อเนื่องจากบริโภค-ลงทุนเอกชนฟื้น เกษตร-ท่องเที่ยวยังหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 27, 2017 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน มี.ค.60 และไตรมาสที่ 1 ปี 60 ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดยภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กทม.และปริมณฑล โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคเกษตรและการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

โดยภาคใต้ ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง มีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 3.6% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 9.5% และ 28.4% ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรม ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 41.0% และ 58.8% ต่อปี สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่ 3.2% ต่อปี ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ 1.4% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 1.5% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 6.0% และ 3.6% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคมขยายตัวในอัตราเร่งที่ 6.9% และ 105.7% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ในอัตราเร่ง ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน โดยขยายตัวที่ 13.1% และ 13.9% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 1.3% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ 2.6% ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนที่กลับมาขยายตัวเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งขยายตัวในอัตราเร่งที่ 7.7% ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัว 8.1% และ 21.8% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ด้านอุปทาน ภาคเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าว และข้าวโพด เป็นต้น สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม ที่ส่งสัญญาณปรับตัวปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 89.7 ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.8% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัว 16.6% ต่อปี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัว 23.4% ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐในภูมิภาคที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องที่ขยายตัว 11.4% ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ 7.9% และ 9.1% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 104.1 ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคมอยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภค การลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยวเป็นหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย จากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ 3.0% ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัว 21.2% ต่อปี และ 1.0% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคในเดือนมีนาคมขยายตัวที่ 7.8% ต่อปี สำหรับด้านอุปทานขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ 1.1% และ 2.3% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคมอยู่ในระดับต่ำที่ 0.7% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 1.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจยังคงทรงตัว อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวยังเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ 3.4% ต่อปี ส่วนด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ 1.6% และ 7.5% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคมยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจยังทรงตัว อย่างไรก็ดี การลงทุนและภาคการท่องเที่ยวยังเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในเดือนมีนาคม ขยายตัว 17.7% ต่อปี ตามการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี เช่นเดียวกันกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคในเดือนมีนาคม ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 12.8% ต่อปี ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวภายในภูมิภาค ส่วนด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ 9.3% และ 18.6% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคมยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.4% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 0.5% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ