ไทยเข้าร่วมประชุม UNCTAD E-Commerce Week 2017 ต่อยอดการพัฒนาการค้ายุคใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 3, 2017 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) E-Commerce Week 2017 ระหว่างวันที่ 24-27 เมษายน 2560 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยมีผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐและผู้บริหารระดับสูงของเอกชนเข้าร่วม

ประเด็นหลักของการประชุม คือการขยายโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก e-commerce ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะสตรี ผู้มีรายได้น้อย และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ประกอบไปด้วย การอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวกับ Cybersecurity การคุ้มครองผู้บริโภค และการนำเทคโนโลยีมาช่วย เรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น การเปิดตัว eTrade for all online ซึ่งเป็นการร่วมงานของ UNCTAD กับหลายภาคส่วน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเข้าถึงข้อมูลโครงการพัฒนาศักยภาพและความร่วมมือต่างๆ โดยผ่านทางเว็บไซต์ eTradeforall.org ซึ่งมีข้อมูลสถิติทางการใช้ e-Commerce ของกว่า 150 ประเทศ และโครงการต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนาใน 7 หัวข้อ คือ การประเมินความพร้อมทางด้าน e-commerce, โครงสร้างพื้นฐานด้าน IT, ระบบการชำระเงิน, โลจิสติกส์, กฎหมาย, การพัฒนาทักษะ และการระดมทุน และในอนาคตจะครอบคลุมถึงการเชื่อมโยงผู้บริจาคสำหรับโครงการที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการอีกด้วย

พร้อมกันนี้ นายวินิจฉัย ได้เข้าร่วมการหารือระดับรัฐมนตรี กลุ่ม Friends of E-commerce for Development กับรัฐมนตรีจากประเทศอาร์เจนตินา,คอสตาริกา, เคนยา, ไนจีเรีย, ปากีสถาน และศรีลังกา และได้ร่วมแสดงความเห็นในหัวข้อดำเนินงานเพื่อให้เกิดความสอดคล้องของนโยบายของทุกภาคส่วนเพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถใช้ประโยชน์จาก e-commerce ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ทางกลุ่มได้ประกาศ Roadmap สำหรับการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนา เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน

นายวินิจฉัย ได้ร่วมแสดงความเห็นถึงการที่ไทยให้ความสำคัญต่อ SMEs รวมทั้งการพัฒนานโยบายบรอดแบรนด์แห่งชาติ ซึ่งตั้งเป้าหมายให้ประชาชนไทย 95% ได้ใช้บรอดแบรนด์ภายในปี 2563 โดยเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนให้ MSMEs ใช้ประโยชน์จาก e-commerce และให้ประชาชนซื้อขายออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย และยังร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อการสนับสนุน MSMEs และผู้ประกอบการ ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปรายเกียรติยศ 5 ราย ได้แก่ เลขาธิการ UNCTAD ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (ITU) ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์กร Consumers International และนาย Jack Ma ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งบริษัท Alibaba ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของ UNCTAD ในด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ขณะที่นาย Jack Ma ได้รับเกียรติให้กล่าวปิดการประชุม และแสดงความเห็นว่า e-commerce เป็นเครื่องมือของประเทศกำลังพัฒนา โดยช่วยให้ MSMEs สามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดโลกได้ ทั้งนี้ การอบรมผู้ประกอบการ MSMEs ควรเลือกผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 30 เพราะเติบโตมาพร้อมกับระบบอินเทอร์เน็ต และให้ความเห็นว่าในอนาคตอันใกล้ จะมีสตรีเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารบริษัทมากกว่า 30% ขึ้นไป เพราะมีความเอาใจใส่ดูแลดีกว่าเพศชาย

การประชุมโต๊ะกลม เป็นอีกกิจกรรมที่จัดขึ้นระหว่าง e-commerce week โดย World Economic Forum เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการใช้ digital trade ในการพัฒนาอย่างทั่วถึง โดยนายวินิจฉัย ได้กล่าวถึงโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของไทยที่ประสบความสำเร็จ ทั้งความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ และความร่วมมือโดยตรงกับ platforms ของต่างประเทศ เช่น การเชื่อมโยง Thaitrade.com เข้ากับ Tradeindia และ Alibaba

นอกจากนี้ ได้ร่วมเป็นผู้กล่าวเปิดงานเสวนาของ ASEAN ในหัวข้อ "Can E-Commerce Trade Rules Help MSMEs in Developing Countries" ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะอาเซียน รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคจากมุมมองของภาคธุรกิจเอกชน และกล่าวถึงการดำเนินงานของอาเซียนเพื่อสนับสนุนการใช้ e-commerce และประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับจากกฎเกณฑ์ทางการค้าที่โปร่งใส เป็นธรรม ปกป้องผู้บริโภค และไม่เป็นการกีดกันการเติบโตของเทคโนโลยี

นายวินิจฉัย กล่าว่า สำหรับประโยชน์ของการเข้าร่วมงาน UNCTAD E-Commerce Week ในครั้งนี้ นอกจากไทยจะได้ร่วมแสดงถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาและเติบโตด้าน e-commerce โดยได้สนับสนุน MSMEs ไทยในการใช้ e-commerce เป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จาก etradeforall.com เพื่อเป็นช่องทางสนับสนุนด้านเงินทุนและโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะสามารถนำมาต่อยอดพัฒนาการดำเนินการของไทยด้าน e-commerce ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ