กสทช.เตรียมหารือผู้ให้บริการ OTT รวม Facebook-YouTube หลังเปิดรับฟังนักวิชาการ คาดเคาะแนวทางกำกับ ก.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 5, 2017 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) แถลงความคืบหน้าที่ กสทช.จะการกำหนดแนวทางกำกับดูแลธุรกิจที่ใช้กระบวนการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Over the Top (OTT)

พ.อ.นที เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ กสทช.ได้เชิญนักวิชาการสื่อสารมวลชนมาพบปะเพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็น โดยนักวิชาการมีความเห็นควรมีการกำกับดูแล OTT ดังนี้

1.เสนอแนะให้มีการสร้างความสมดุลในการดูแลการประกอบกิจการ เพื่อมิให้กระทบต่อการสร้างสรรค์ และการเกิดขึ้นของการให้บริการกระจายเสีบงและโทรทัศน์ใหม่บน Platform OTT

2.เสนอแนะให้มีการกำกับดูแลโฆษณาที่ไม่เหมาะสมในบริการ OTT โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3.เสนอแนะให้มีการกำหนดตัวชี้วัดและหลักเกณฑ์ว่า บริการ OTT ใดที่มีอิทธิพลต่อสาธารณะในวงกว้าง

4.เสนอแนะให้มีการกำกับดูแลผ่าน Platform ที่ให้บริการ โดยให้ Platform มีหน้าที่เบื้องต้น ในการกลั่นกรองบริการให้เหมาะสมก่อนที่จะมีการเผยแพร่ไปยังผู้รับชม

5.เนื้อหาที่สำคัญบน OTT หรือเนื้อหาจากสื่อเดิม ต้องมีการกำกับดูแลในลักษณะเดียวกัน ไม่ใช่เป็นเนื้อหาแบบเดียวกันนำเสนอบนสื่อเดิม แต่สามารถนำเสนอบนสื่อใหม่ได้

6.ควรคำนึงถึงประเด็นการละเมิดสิทธิ์ การขัดต่อศีลธรรมอันดี และประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน

7.เสนอแนะให้ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชน เพื่อให้สามารถแยกแยะระหว่างข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และความเห็นส่วนตัว

พ.อ.นที กล่าวว่า หลังจากนี้ ภายในเดือน พ.ค.นี้ ทาง กสท. จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการรายเดิม หรือวิทยุ ,โทรทัศน์ จากนั้นก็จะส่งหนังสือเชิญผู้ประกอบกิจการ OTT ได้แก่ ตัวแทนจาก Facebook , YouTube ,LIVE Instagram หรือสื่อต่างๆ ที่มีการเผยแพร่ในรูปแบบวิดิโอ

และในเดือน มิ.ย.60 กสท.ก็จะนำเสนอความคิดเห็นต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ กสท.เพื่อกำหนดแนวทาง หรือหลักการกำกับดูแล OTT ต่อไป คาดว่าจะสามารถสรุปและเริ่มนำไปสู่การปฏิบัติได้ภายในเดือน ก.ค.60

"หลักเกณฑ์ในการดูแลเนื้อหาที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ทั้ง Facebook และ YouTube คงต้องมีการพูดคุยกันต่อไปว่าควรจะมีแนวทางอย่างไร ทั้งนี้จากการพูดคุยเบื้องต้นทั้ง Facebook และ YouTube รับทราบถึงปัญหาเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยเมื่อพูดคุยกับทุกกลุ่มแล้วปลายเดือน พ.ค.ถึงต้นเดือน มิ.ย.น่าจะเห็นรูปแบบที่เป็นไปได้ในการดูแล โดยเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะมีการนำเสนอแนวคิดในการดูแลในเดือนมิ.ย.ก่อนจะออกมาเป็นแนวทางในการดูแลประมาณเดือน ก.ค.60" พ.อ.นที กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ