กรมทางหลวง ยันมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 พัทยา – มาบตาพุด เปิดให้บริการได้ภายในปี 62

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday May 20, 2017 08:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยหลังจากนำสื่อมวลดูความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สาย กรุงเทพฯ - บ้านฉาง ช่วงพัทยามาบตาพุด ว่ากรมทางหลวงได้พัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ได้ขยายจากชลบุรี ไปถึงพัทยา ระยะทาง 42 กิโลเมตร และกำลังดำเนินการเข้าสู่ระบบปิดอย่างเต็มรูปแบบภายในปีนี้ ว่าด้วยการพัฒนาระบบมอเตอร์เวย์เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศ

ปัจจุบันกรมทางหลวง ได้ดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษทั้ง 3 เส้นทาง และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางหลวงหมายเลข 7 สายพัทยา – มาบตาพุด เป็นการก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ ผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 2+300 เชื่อมกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ผ่านอำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สิ้นสุดที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง บริเวณ กม. 34+400 ระยะทางรวม 32 กม. ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 14,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจากกองทุนเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางของทางหลวงพิเศษ ระยะเวลาดำเนินงานก่อสร้างประมาณ4ปี สำหรับงานก่อสร้างในส่วนงานโยธา แบ่งออกเป็น 13 สัญญา ได้ลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างแล้วทั้งหมด มีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 32 (ณ เดือนเมษายน 2560) ในส่วนของงานระบบ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมและบริหารการจราจร ด่านชั่งน้ำหนัก อยู่ระหว่างสำรวจ ออกแบบการก่อสร้าง และเตรียมการประกวดราคา คาดว่าจะสามารถประกวดราคาแล้วเสร็จและเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2560 โดยทางหลวงหมายเลข 7 สายพัทยา – มาบตาพุด จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 สอดคล้องกับแผนงานพัฒนาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ปี 2560 -2564 ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นเส้นทางสายหลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าในภาคตะวันออกไปยังทั่วทุกภูมิภาค เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งทางรถไฟ และการขนส่งทางอากาศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน

อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่อว่า สำหรับความพิเศษโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สาย กรุงเทพฯ - บ้านฉาง ช่วงพัทยา – มาบตาพุด ว่าเพื่อให้ได้ทางที่มีคุณภาพ มีความเรียบกรมทางหลวงได้ใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบโดยติดตั้งเครื่องวัดความขรุขระของผิวด้วยเลเซอร์ (Laser Profilometer) ซึ่งใช้วัดดัชนีความเรียบขรุขระสากล (International Roughness Index, IRI) หากเป็นถนนคอนกรีตต้องมีค่าต่ำกว่า 2.5 และถนนแอสฟัลต์ต้องมีค่าต่ำกว่า 2.0 จึงตรวจรับงาน อันเป็นไปตามมาตรฐานสากล และคำแนะนำของธนาคารโลก (World Bank) ในความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ควบคุมกลางพัทยา (Control Center Building, CCB) คาดว่าสามารถเปิดใช้งานได้ภายในปลายปี 2560 นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ