ส.ธนาคารไทย-ICBC ลงนามร่วมหนุนนักธุรกิจจีนเข้าลงทุน 10 อุตฯเป้าหมายใน EEC

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 26, 2017 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ร่วมลงนามกับ สมาคมธนาคารไทย และธนาคาร Industrial and Commercial Bank of China Limited (ICBC) ที่จะเข้ามาสนับสนุนให้นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นการแสดงถึงความตั้งใจของ ICBC และพันธมิตรเครือข่ายภายในประเทศไทย

รวมทั้งสมาคมธนาคารไทยจะทำงานร่วมกันกับ สกรศ. เพื่อดึงดูดนักลงทุนจีนที่มีศักยภาพให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC โดยเริ่มจากการคัดกรองนักลงทุนที่มีขีดความสามารถในการเข้ามาลงทุนในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยให้เข้ามาลงทุนพื้นที่ EEC

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ได้มีการติดตามความคืบหน้าในเรื่องของการจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ EEC ทั้งเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) ในพื้นที่ EEC ความก้าวหน้าการชักจูงนักลงทุนรายสำคัญในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และความคืบหน้าโครงการต่างๆ ใน EEC

นอกจากนี้ ยังมีการหารือเรื่องการลงทุนใน 3 ท่าเรือหลัก และการเชื่อมโยงโดยระบบรถไฟรางคู่แบบไร้รอยต่อ และหลักเกณฑ์วิธีการดำเนินงานของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.)

ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นักลงทุนมีความสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีสัญญาณที่ชัดเจนจากทางรัฐบาลในการพัฒนาต่อยอดในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกปี 60 มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 1.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าเมื่อแผนการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานมีความชัดเจน และ พ.ร.บ.EEC ประกาศใช้ จำนวนนักลงทุนเป้าหมายจะเพิ่มขึ้น โดยปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีการยื่นขอรับส่งเสริมฯในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ถึง 1.5 แสนล้านบาท

นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาใน 3 ท่าเรือหลัก คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3, ท่าเรือสัตหีบ ระยะที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปี 61 และจะสามารถทยอยเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่วางไว้คือประมาณปี 66 หรืออย่างเร็วที่สุดก็คือปี 65

ส่วนการจัดเตรียมพื้นที่ให้กับ SMEs ใน EEC ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า ประการแรกทาง กนอ.ได้มีการจัดโซนเป็น SMEs แล้ว โดยมีการร่วมมือกับผู้พัฒนานิคมให้มีการจัดเตรียมพื้นที่ดังกล่าว ประการที่ 2 สำหรับกลุ่ม Start Up ได้รับนโยบายไปแล้วว่าจะจัดพื้นที่ EEC for SMEs โดยจะนำร่องที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังก่อน ใช้พื้นที่ประมาณ 400 ตารางเมตร ริมถนนสุขุมวิท ตั้งเป้าว่าจะเปิดได้ประมาณกลางเดือน มิ.ย.นี้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนทั้งในด้านของการให้ความรู้ และเครื่องมือต่างๆ

นอกจากนี้ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ได้รายงานความก้าวหน้าต่อที่ประชุมถึงการพัฒนาในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยในการพัฒนาพื้นที่ EEC โดยเฉพาะระบบรถไฟรางคู่ที่สามารถเชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเข้าด้วยกัน

และ ยังรายงานความก้าวหน้าในเรื่องของการลงทุนที่ทางบีโอไอ จะเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของการลงทุน ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมยังรับทราบถึงการเตรียมลงพื้นที่ของ EEC เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน ทั้งในส่วนประชาชน NGO และสื่อมวลชนในพื้นที่ โดยคาดว่าจะเริ่มลงพื้นที่ในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ คาดว่าในวันที่ 16 มิ.ย.60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะไปเป็นประธานการประชุมที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ