(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือนพ.ค.60 หดตัว -0.04%, Core CPI ขยายตัว 0.46% เล็งปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 1, 2017 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (CPI) เดือน พ.ค.60 อยู่ที่ 100.64 หดตัวลดลง 0.04% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.15% จากเดือน เม.ย.60 โดยตัวเลข CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.81%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (Core CPI) เดือน พ.ค.60 อยู่ที่ 101.14 เพิ่มขึ้น 0.46% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.01% จากเดือน เม.ย.60 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ขยายตัว 0.58%

ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ในเดือน พ.ค.60 อยู่ที่ 101.42 ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 1.38% แต่เพิ่มขึ้น 0.40% จากเดือน เม.ย.60 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 100.21 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.74% และเพิ่มขึ้น 0.01% จากเดือนเม.ย.60

นางสุรีย์พร สหวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.60 ที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.04% เป็นผลมาจากแรงฉุดของราคาอาหารสดประเภทผักและผลไม้จากภาวะภัยแล้งในปีก่อนที่ส่งผลให้ดัชนีราคาผักสดมีค่าสูงสุดในเดือน พ.ค. อย่างไรก็ดี ราคาอาหารสดมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบสะสมของภัยแล้งในระยะที่เหลือ

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาพลังงานที่เคลื่อนไหวไปตามการปรับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศในระยะที่ผ่านมา อีกทั้งได้มีการปรับค่ากระแสไฟฟ้าจากผลของการปรับขึ้นค่า Ft ในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.60

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าทั้ง 422 รายการในเดือน พ.ค.60 พบว่ามีสินค้า 151 รายการที่มีราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ นมสด ผักสด ผลไม้สด ค่ากระแสไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ และค่าเล่าเรียน เป็นต้น ขณะที่สินค้า 91 รายการมีราคาลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า กุ้งขาว น้ำมันพืช ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนสินค้าอีก 180 รายการไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.60) ยังมีแนวโน้มการขยายตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และกำลังซื้อของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนมาจากรายได้เกษตรกร และการผลิตภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นางสุรีย์พร คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งปีแรกจะต่ำกว่า 1% เล็กน้อย โดยอาจเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8-0.9% พร้อมกันนี้กระทรวงพาณิชย์เตรียมจะปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อสำหรับปี 60 ใหม่ในเดือนหน้า จากปัจจุบันที่คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีไว้ในกรอบ 1.5-2.2% จากปัจจัยที่สำคัญ 2 ตัว คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

"เดือนหน้าเราจะขอปรับประมาณการเงินเฟ้อทั้งปีใหม่ เพราะเรื่องราคาน้ำมันค่อนข้างจะมีน้ำหนักต่อดัชนีราคาผู้บริโภคค่อนข้างมาก นอกจากนี้ค่าเงิน ก็มีผลต่อราคาสินค้าที่นำเข้ามา รวมทั้งต้นทุนการผลิตด้วยเช่นกัน แต่ในเดือนนี้เรายังคงเป้าเงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ 1.5-2.2% ไปก่อน" นางสุรีย์พร กล่าว

ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค.60 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 50.41 บาท/ดอลลาร์ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 34.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่เป็นตัวช่วยหนุนเงินเฟ้อ ได้แก่ อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับการผลิตและรายได้เกษตรกร ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลง, มาตรการภาครัฐที่สนับสนุนกำลังซื้อสำหรับครัวเรือนรายได้น้อย และการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2560 รวมทั้งรายได้จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนทั้งด้านปริมาณและราคา

ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออก, ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น กระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ตลอดจนความผันผวนของค่าเงินบาท ที่กระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของภาคการส่งออก และต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ