ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้การปรับเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน 4 แนวทางของธปท.ช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันให้ภาคธุรกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 5, 2017 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การผ่อนคลายเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศเกณฑ์ใหม่สำหรับการควบคุมการเปลี่ยนเงิน เนื้อหาโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธปท. เพื่อให้เท่าทันสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงิน และเพิ่มความสะดวกให้กับการโอนเงินและการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ

โดยแนวทางการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินล่าสุด จะแบ่งออกเป็น 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. การลดขั้นตอนและเอกสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ 2. การเพิ่มความคล่องตัวให้กับภาคเอกชนในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 3. การเพิ่มทางเลือกซื้อขายโอนเงินรายย่อย และหนุนการเชื่อมโยงการค้า-การลงทุนกับภูมิภาค และ 4. เพิ่มทางเลือกให้รายย่อยในการลงทุน และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ เพื่อเพิ่มการแข่งขัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวทางผ่อนคลายตามเกณฑ์ใหม่ของธปท. ดังกล่าวข้างต้น มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การเสริมบทบาทของผู้เล่นหน้าใหม่ ทั้ง Money Transfer Agent และ Money Changer เข้ามาทำการแข่งขันให้บริการทางการเงิน ทั้งเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ การโอนเงินระหว่างประเทศ กับประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์ต่อการขยายโอกาสธุรกรรมการค้าการลงทุนตามชายแดน และข้ามพรมแดน มากขึ้น ขณะที่ การอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถทำการซื้อ-ขายเงินต่างประเทศได้เอง ก็น่าจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้บริการลูกค้าที่เป็นผู้ลงทุนไทยและลูกค้าต่างประเทศได้มากขึ้น

ทั้งนี้ การปรับเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินล่าสุดของธปท. น่าจะมีส่วนช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจไทย อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า แรงกดดันของเงินดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา (โดยเฉพาะจากเรื่องความไม่แน่นอนในจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงครึ่งปีหลัง) ยังคงหนุนให้เงินบาททำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 23 เดือนที่ระดับ 33.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งแม้ว่า ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อผู้ประกอบการแต่ละรายในแต่ละอุตสาหกรรมอาจจะมีภาพที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ที่มี Exposure ในเงินตราต่างประเทศ ยังมีความจำเป็นต้องพิจารณาเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อรายได้หลังจากการแลกกลับมาเป็นสกุลเงินบาทด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ