รมว.ดีอี ถก กสทช.หลังกม.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ มีผล เตรียมตั้งคณะทำงานร่วม-ผลักดันเน็ตประชารัฐพื้นที่ EEC เร่งด่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 26, 2017 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวภายหลังหารือกับพล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ภายหลัง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ว่า จะตั้งคณะทำงานหารือร่วมกันในรายละเอียดของการเป็นหน่วยงานระดับประเทศกับองค์กรระหว่างประเทศ

รวมถึงการปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญภายใน 180 วัน (ภายใน 2 ต.ค. 2560) โดยเฉพาะมาตรา 60 และ มาตรา274 รวมทั้งจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(สคก.) เพื่อยกร่าง พ.ร.บ. ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ในส่วนของร่างพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... มอบหมายสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สพธอ. หรือ ETDA พิจารณากลไกการทำงานร่วมของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สร้างความมั่นใจและดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศและให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมให้ความรู้เรื่อง Cyber Security สู่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่เยาวชนระดับประถมและมัธยม

นอกจากนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานยังได้หารือถึงการดำเนินงานโครงการเน็ตประชารัฐเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ประชาชน โดยปลายปี 2561 จะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง(โครงข่ายบรอดแบนด์) ให้บริการแก่ประชาชนครอบคุลมทั่วประเทศ สร้างรายได้ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยขอให้บมจ.ทีโอที เร่งดำเนินการจัดทำแผนธุรกิจ(Business Plan) ในพื้นที่หมู่บ้านที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและในพื้นที่หมู่บ้านที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์แต่ไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้โครงข่ายของโครงการเน็ตประชารัฐปรับเปลี่ยนเป็นไฟเบอร์ออพติค(Fiber Optic) ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดทั่วประเทศพร้อมพิจารณาเรื่องรูปแบบธุรกิจ(Business Model) ในการกำหนดอัตราค่าบริการในพื้นที่เขตเมืองและพื้นที่ชายขอบเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรม

สำหรับบริการเน็ตประชารัฐ รมว.ดีอี กล่าวว่า ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวและใช้งานได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ (Single Sign-On) โดยการลงทะเบียนประชาชนสามารถใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลไม่จำเป็นต้องลงทะเบียบด้วยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน

ทั้งยังมอบหมายให้ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯพิจารณาทบทวนการกำหนดพื้นที่ในการดำเนินงานตามโครงการเน็ตประชารัฐ โดยให้พิจารณาเพิ่มเติมในพื้นที่ EEC เป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายสนับสนุนพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่และประจำที่โดยการเพิ่มตัวเลขขอเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่จาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก ซึ่งจะส่งผลทำให้ได้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น เป็นจำนวน 760 ล้านเลขหมาย และโทรศัพท์ประจำที่จำนวน 100 ล้านเลขหมาย กสทช. ขอความร่วมมือกระทรวงดิจิทัลฯพิจารณาแนวทางการสนับสนุนบมจ.ทีโอที ในเรื่องการปรับปรุงโครงข่ายและนำเข้าคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาเพื่อให้สามารถให้บริการแก่ภาคเอกชน และภาคประชาชนยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยคาดว่าการเพิ่มหมายเลขโทรศัพท์จะทำให้เสร็จสิ้นภายในปี 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ