กบง.มีมติคงราคาขายปลีก LPG ก.ค.ที่ 20.49 บ./กก. ก่อนเคาะลอยตัว 1 ส.ค.60

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 6, 2017 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมีพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานว่า ที่ประชุม กบง. เห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนกรกฎาคม 2560 ไว้ที่ 20.49 บาท/กก. โดยปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลง 1.4262 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 1.5469 บาท/กก. เป็นชดเชย 0.1207 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ที่ประชุม กบง. ได้พิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนกรกฎาคม 2560 โดยจากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนกรกฎาคม 2560 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 32.50 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ 355.00 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมิถุนายน 2560 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.4544 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 34.1655 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับตัวลดลง 1.4262 บาท/กก. จาก 15.0491 บาท/กก. เป็น 13.6229 บาท/กก.

ผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับสุทธิอยู่ที่ 131.82 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2560 อยู่ที่ 39,669 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 6,448 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 33,221 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ทั้งระบบ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป โดยให้ยกเลิกการกำหนดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติก ยกเลิกการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG พร้อมยกเลิกการกำหนดอัตราเงินส่งเข้าหรือชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากทุกส่วนของการผลิต ยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เพื่อให้ตลาดก๊าซ LPG มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ แต่ยังคงให้ สนพ. ติดตามและประกาศเฉพาะราคาอ้างอิง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ รวมทั้งให้ สนพ. มีกลไกการติดตามสถานการณ์ราคานำเข้าก๊าซ LPG และต้นทุนโรงแยกก๊าซอย่างใกล้ชิดเป็นรายเดือน ซึ่งหากราคาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ยังมีมติให้เตรียมนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาให้ ปตท. ดำเนินธุรกิจโครงการ LPG Integrated Facility Enhancement (โครงการ LIFE) ในเชิงพาณิชย์ โดยให้ผู้ค้าก๊าซ LPG รายอื่นสามารถเข้าใช้บริการคลังก๊าซ LIFE ที่เขาบ่อยา จังหวัดชลบุรี ของ ปตท.ได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม จนกว่าผู้ค้าก๊าซ LPG รายอื่นจะสามารถสร้างหรือขยายคลังก๊าซ LPG นำเข้าแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ให้ ปตท. เปิดเผยข้อกำหนด/กติกาการใช้คลังก๊าซฯ ดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบด้วย และเพื่อส่งเสริมให้มีการจำหน่ายก๊าซ LPG ภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ปริมาณก๊าซ LPG ที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซจะต้องให้ความสำคัญกับการจำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงก่อนเป็นลำดับแรก มิใช่เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และสำหรับการส่งออกก๊าซ LPG จะต้องขออนุญาตจากกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) โดยจะมีการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราคงที่ (Fixed Rate) ที่ 20 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ยกเว้นกรณีที่ก๊าซ LPG นำเข้า เพื่อเป็นการส่งออก (Re-export) เท่านั้น

ที่ประชุม กบง. ยังได้รับทราบรายงานสถานการณ์แหล่งก๊าซ JDA–A18 หยุดซ่อมฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2560 เนื่องจากเกิดเหตุขัดข้องทำให้ปริมาณก๊าซฯ หายไปจากระบบ ประมาณ 440 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา ต้องเปลี่ยนไปใช้น้ำมันดีเซลแทนและบางส่วนจำเป็นต้องหยุดผลิต รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายก๊าซฯ ของสถานีบริการก๊าซ NGV ในพื้นที่ภาคใต้ ต้องปิดให้บริการไป 6 สถานี จากทั้งหมด 16 สถานี

ดังนั้น เพื่อรองรับผลกระทบจากเหตุฉุกเฉินดังกล่าว กระทรวงพลังงาน จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ ด้านพลังงานไฟฟ้า: โรงไฟฟ้าจะนะเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลทดแทน และมีการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปช่วยเสริม โดยเฉพาะในช่วง Peak ตอนเย็น เดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่มาเสริม รวมทั้งจะประสานขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียในกรณีฉุกเฉิน ด้านก๊าซ NGV: มีการขนส่งก๊าซ NGV จากภาคกลาง 55 ตัน/วัน เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้ในพื้นที่ ซึ่งปกติอยู่ที่ประมาณ 140 ตัน/วัน ระบบส่งก๊าซภาคตะวันออก: ปตท. เรียกรับก๊าซจากผู้ผลิตแหล่งอื่นๆ ในอ่าวไทย พร้อมเพิ่มการจ่าย LNG เข้าระบบ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้

พร้อมกันนี้ กระทรวงพลังงาน โดย ศูนย์เฝ้าระวังวิกฤตพลังงาน ยังได้มีการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยสถานการณ์ปัจจุบันการใช้ไฟฟ้า ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2560 พบว่า มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ เวลา 19.27 น. อยู่ที่ 2,413.2 MW ซึ่งยังอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ และสำหรับความคืบหน้าของการซ่อมแซมแหล่งก๊าซ JDA-A18 พบว่า เป็นไปตามแผน มีดำเนินการไปแล้วประมาณ 60% โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 นี้

รวมทั้ง รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 – 2579 (Gas Plan 2015) ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 สรุปดังนี้ อัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 5 เดือนแรก อยู่ที่ระดับ 4,693 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในแผนเล็กน้อย ที่ระดับ 5,009 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าแผน โดยคิดเป็นสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58

ขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) อยู่ระหว่างการดำเนินการยกร่างกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม 1 ฉบับ และกฎกระทรวง 5 ฉบับ ก่อนนำเสนอ ครม. พิจารณา รวมทั้งอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูล การกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การคัดเลือก รวมถึงการพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างรอบคอบ สำหรับใช้ในการเปิดประมูลแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ ในปี 2565 – 2566 คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนกันยายน 2560 ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการฯ แล้วเสร็จ จึงจะเปิดให้ยื่นขอให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ต่อไป

รวมทั้ง รับทราบรายงานผลการศึกษาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหา/นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Facilities) สอดคล้องตามแผน Gas Plan 2015 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ (พื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา) [F-2] ขนาด 2 ล้านตันต่อปี เงินลงทุนรวมกว่า 26,000 ล้านบาท กำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ในปี 2571 และ (2) โครงการ FSRU ในประเทศเมียนมา [F-3] ขนาด 3 ล้านตันต่อปี เงินลงทุนรวมกว่า 20,000 ล้านบาท กำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ภายในปี 2570 ซึ่งผลจากการศึกษาในเบื้องต้น พบว่าสถานที่ตั้งโครงการจะตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เมือง Kanbauk ทางภาคใต้ของประเทศเมียนมา ปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาอยู่ระหว่างการพิจารณาสัดส่วนของการร่วมทุนโครงการฯ ทั้งนี้ หากการเจรจาได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ จะสามารถทำให้กำหนดส่งก๊าซธรรมชาติเลื่อนขึ้นมาเป็นภายในปี 2566 ได้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำผลการศึกษาดังกล่าวไปประสานการดำเนินการในรายละเอียดเพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว และนำมาเสนอต่อ กบง. พิจารณาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ