คลัง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแนวทางบริหารงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ 4 จังหวัดภาคอีสาน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 20, 2017 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการบริหารงาน เพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน และการสัมมนา เรื่อง การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ที่ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐในส่วนกลางและ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดยโสธร

ในการประชุม ปลัดกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำและขอความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของรัฐบาล โดยดำเนินการให้ครอบคลุม 5 มิติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ได้แก่

1. ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบ โดยขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ดำเนินการติดตามจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจังต่อเนื่อง และประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เจ้าหนี้นอกระบบปรับตัวเข้าสู่การเป็นผู้ให้สินเชื่อในระบบต่อไป

2. เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ขอให้เร่งรัดประชาสัมพันธ์แหล่งสินเชื่อในระบบที่สำคัญ ได้แก่ (1) สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) โดยนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง สามารถให้สินเชื่อกับประชาชนในจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในวงเงินไม่เกินรายละ 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย รวมค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (Effective Rate) และ (2) สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ซึ่งออกแบบสำหรับช่วยเหลือประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน ในวงเงินไม่เกินรายละ 50,000 บาท โดยสินเชื่อดังกล่าวเป็นสินเชื่อที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนที่สามารถช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้

3. ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ ขอให้สร้างการรับรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับกลไกที่คณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยและประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด ซึ่งมีอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการ จะทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในการเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อลดมูลหนี้ที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยหรือเงื่อนไขที่เอารัดเอาเปรียบ โดยยึดหลักของความเป็นธรรมในการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ทั้งฝ่ายลูกหนี้และเจ้าหนี้พึงพอใจ

4. เพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ ขอความร่วมมือให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัด ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้านการเพิ่มรายได้ของตัวเอง การให้ความรู้ทางการเงิน รวมถึงการพิจารณาการให้สวัสดิการแก่ประชาชนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบที่อาจไม่มีศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองได้

5. สนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และเผยแพร่ความรู้และทักษะทางการเงินแก่ประชาชน

ปลัดกระทรวงการคลังยังได้มอบนโยบายให้เร่งแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยได้ยกตัวอย่างข้อมูลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 โดยพบว่า ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีที่ระบุว่าตนมีปัญหาหนี้นอกระบบมีจำนวนประมาณ 48,000 ราย มูลหนี้ประมาณ 2,400 ล้านบาท จังหวัดอำนาจเจริญมีผู้มีหนี้นอกระบบ จำนวนประมาณ 9,000 ราย มูลหนี้ประมาณ 58,000 ล้านบาท จังหวัดศรีสะเกษ มีผู้มีหนี้นอกระบบ จำนวนประมาณ 58,00 ราย มูลหนี้ประมาณ 59,00 ล้านบาท และจังหวัดยโสธร มีผู้มีหนี้นอกระบบ จำนวนประมาณ 13,000 ราย มูลหนี้ประมาณ 5,200 ล้านบาท

โดยในการประชุมครั้งนี้ ปลัดกระทรวงการคลังเห็นควรนำลูกหนี้นอกระบบทั้ง 4 จังหวัดดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 128,000 ราย มาเป็นกลุ่มเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์ จึงขอให้คณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัด ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ นำกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่มีอยู่ มาให้ความร่วมมือและพร้อมดำเนินการเชิงรุกอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำให้หน่วยราชการทุกภาคส่วน มีบทบาทร่วมในการขับเคลื่อนและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล และประชาสัมพันธ์สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ โดยกระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายให้มีผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ครอบคลุมในทุกจังหวัดโดยเร็ว เพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบแก่ประชาชน

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งเริ่มให้บริการแก่ประชาชนแล้ว 46 ราย ใน 28 จังหวัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ