(เพิ่มเติม) ธปท.ปรับเกณฑ์สมัครสินเชื่อบัตรเครดิต-ส่วนบุคคล พร้อมสั่งลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต มีผล 1 ก.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 26, 2017 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ธปท.ได้กำหนดการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่จะมีผลบังคับใช้กับผู้ขอมีบัตรเครดิตหรือผู้ขอสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหม่ พร้อมทั้งประกาศปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตมีผลบังคับใช้กับผู้มีบัตรเครดิตทั้งรายเดิมและรายใหม่ ทั้งหมดจะมีผลตั้งแต่ 1 ก.ย.60 เป็นต้นไป

"เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยดูแลการก่อหนี้สินของภาคครัวเรือนให้เหมาะสมขึ้น เนื่องจากประชาชนเข้าถึงสินเชื่อประเภทนี้ได้ง่ายและเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหบักประกัน อาจส่งผลให้ประชาชนบางกลุ่มที่มีความเปราะบางก่อหนี้จนเกินความสามารถชำระหนี้ของตนได้"ธปท.ระบุ

สำหรับมาตรการสินเชื่อบัตรเครดิต ได้กำหนดวงเงินแก่ผู้ขอมีบัตรให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ตามรายได้ต่อเดือน โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ รายได้ตั้งแต่ 30,000 ถึง 50,000 บาท วงเงินไม่เกิน 3 เท่า และรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป วงเงินไม่เกิน 5 เท่า โดยไม่จำกัดจำนวนบัตรเครดิตที่จะขอ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละธนาคาร เพราะจากการศึกษาพบว่า ปริมาณบัตรไม่มีผลต่อหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น มากกว่าการจำกัดวงเงินในบัตร

นอกจากนี้ ได้กำหนดให้สถาบันการเงินปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยลงไม่เกิน 18% จากเดิมที่ 20% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินในปัจจุบันที่ต้นทุนทางการเงินต่ำลง โดยคาดว่ามาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ลดลงประมาณ 4 พันล้านบาทต่อปี

ด้านมาตรการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับได้ปรับวงเงินสินเชื่อแก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และได้รับวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับไม่เกิน 3 ราย สำหรับผู้มีรายได้ต่อเดือนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป กำหนดวงเงินไม่เกิน 5 เท่า แต่ไม่จำกัดจำนวนผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคแต่ละราย โดยยังคงเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับจะเรียกเก็บได้ เพื่อให้สามารถให้บริการสินเชื่อแก่ผู้บริโภคต่างๆ ให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการดูแลผู้บริโภค ธปท.ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ต้องให้ทางเลือกแก่ผู้บริโภคในกรณีที่ไม่ต้องการให้ติดต่อเพื่อเสนอขายผลิตภัณฑ์ โดยต้องมีกระบวนการและดูแลให้เป็นไปตามความประสงค์ของลูกค้า รวมถึงในกรณีที่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินที่ผิดพลาดของบัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องให้สิทธิทางเลือกแก่ผู้ถือบัตรเครดิตที่จะขอรับเงินคืนผ่านช่องทางอื่น นอกเหนือจากการคืนเงินเข้าบัญชีบัตรเครดิตด้วย

“ในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนสูงถึง 78.6% โดย 50% เป็นหนี้ของคนที่อายุประมาณ 30 ปี เท่านั้น และปริมาณ 1 ใน 5 ของคนช่วงอายุ 25 ปีจะเป็นหนี้เสีย โดยคนไทยมีหนี้เฉลี่ยต่อรายที่ 1.5 แสนบาท ส่งผลให้ต้องมีมาตรการออกมาควบคุมดูแลไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงต่อไป”นางฤชุกร กล่าว

ในช่วงที่ผ่านมาหนี้ในภาคครัวเรือนของประเทศอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกระทบต่อภาครัวเรือนและภาพรวมของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งธปท. ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อการดูแลหนี้ในภาคครัวเรือนกดังกล่าว จึงได้ดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและมีเจ้าหนี้หลายราย หรือ คลินิกแก้หนี้ขึ้น

นางฤชุกร เชื่อว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าว เน้นควบคุมกลุ่มคนที่เปราะบาง หรือมีสัญญาณจะเกิดหนี้เสียจริงเท่านั้น ส่วนบุคคลทั่วไปเชื่อว่าจะยังสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เช่นเดิม และอัตราดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ในระดับสูง ดังนั้นจึงมั่นใจว่ามาตรการที่ออกไม่ได้ผลักดันให้คนหันไปก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น ขณะที่แนวโน้มหนี้เสียจากมาตรการจะปรับลดลงหรือไม่ เชื่อว่ามาตรการจะเป็นการควบคุมการก่อหนี้ใหม่ วางรากฐานในการให้สินเชื่อระยะยาว หนี้เสียที่ผ่านมาจึงอาจจะไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญโดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน หนี้เสียของทั้ง 2 ส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 3%

ขณะที่ความคืบหน้าของการดำเนินงานคลีนิกแก้หนี้นั้น ปัจจุบันมีการอนุมัติเข้าโครงการแล้ว 102 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณา 121 ราย จากที่แสดงความสนใจมา 39,000 ราย โดยยังติดปัญหาจากที่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) ไม่สามารถบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้ ซึ่งธปท.ได้เตรียมเสนอแก้พ.ร.บ.เพื่อให้ SAM ดูแลได้ ประกอบกับลูกหนี้ยังไม่มีความเข้าใจกับมาตรการดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ