(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจ Q2/60 ขยายตัวต่อเนื่องอัตราใกล้เคียง Q1/60,คาดครึ่งปีหลังส่งออกแผ่วลง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 31, 2017 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน นาครธรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/60 มีทิศทางการขยายตัวต่อเนื่อง และมีอัตราการขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาส 1/60 ที่ 3.3%

แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในไตรมาส 2/60 มาจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีและทั่วถึงมากขึ้น โดยการส่งออกขยายตัวได้ถึง 8% ทำให้ครึ่งปีแรกการส่งออกขยายตัวได้ถึง 7.4% โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังส่งออกจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2.7% ทำให้ส่งออกทั้งปีขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 5% รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง

"คาดว่าการส่งออกในเดือน ก.ค.จะเป็นเดือนสุดท้ายที่เติบโตใกล้เคียงในระดับ 2 หลัก หลังจากนั้นทิศทางส่งออกจะปรับลดลงบ้าง เนื่องจาก ก.ค.ปีที่แล้ว มีการขยายตัวฐานต่ำ แต่ทั้งปียังเชื่อว่าการส่งออกยังขยายตัวได้ตามเป้าหมาย เพราะมาจากความต้องการซื้อในต่างประเทศที่ยังมีทิศทางที่ดี" นายดอน กล่าว

นายดอน กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจในประเทศไตรมาส 2/60 ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ แม้จะชะลอลงตามรายจ่ายลงทุนและการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ขยายตัวสูงในไตรมาส 1/60 ตามลำดับ

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัว โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ดีขึ้น ช่วยชดเชยการลงทุนในภาคก่อสร้างที่หดตัว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว ส่วนหนึ่งจากการระบายสินค้าคงคลังของบางอุตสาหกรรม ประกอบกับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศยังหดตัว

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงต่อเนื่องตามราคาอาหารสด จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากในปีนี้ และฐานสูงเพราะภัยแล้งในปีก่อน สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวในระดับต่ำเท่ากับไตรมาสก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น

นายดอน กล่าวว่า ขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างติดตามเพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด ซึ่งบางจังหวัดไม่เคยท่วมก็ท่วมหนักมาก เบื้องต้นในกรณีเทียบเคียงเหตุการณ์น้ำท่วมในปีก่อนหน้า เช่น ภาคใต้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆเท่านั้น และจะเริ่มมีการซ่อมสร้าง ฟื้นฟูความเสียหาย จนกลับมาสู่ภาวะปกติได้ ไม่ได้มีผลกระทบจนน่าเป็นห่วง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ