(เพิ่มเติม) กกร.มั่นใจส่งออกปีนี้โตในกรอบ 3.5-4.5% คงคาดการณ์ GDP 3.5-4% จับตาปัจจัยตปท.,เชื่อน้ำท่วมกระทบช่วงสั้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 1, 2017 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่า การส่งออกในปี 60 น่าจะสามารถรักษาการขยายตัวได้ตามกรอบประมาณการที่ 3.5-4.5% หลังจากในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 7.8% และแรงส่งด้านปริมาณหรือคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้ายังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตรหลักที่อยู่ในระดับต่ำ, การเบิกจ่ายงบลงทุนที่ชะลอตัวลง และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแรงลง อาจจะยังคงเป็นปัจจัยถ่วงการใช้จ่ายภายในประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้

ทั้งนี้ กกร.ยังมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จึงคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 60 ไว้ที่ 3.5-4.0% และเงินเฟ้อที่ 0.5-1.5% ตามเดิม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีหลายเหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมของธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะ ธนาคารกลางสหรัฐ (FED), ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ซึ่งมีแนวโน้มจะค่อยๆ ลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างระมัดระวังในช่วงข้างหน้า, การเลือกตั้งของเยอรมนี ที่อาจมีผลต่อประเด็นการเจรจา BREXIT และการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินและค่าเงินบาทให้มีโอกาสผันผวนได้อย่างต่อเนื่อง

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และ ประธานกกร. กล่าวถึงแนวโน้มค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่องว่าเป็นการแข็งค่าไปตามสกุลเงินในภูมิภาค จากค่าเงินสหรัฐฯที่อ่อนค่า และมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศที่มากและเข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าสถาการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีเครื่องมือที่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวตามความเหมาะสมอยู่แล้ว เพื่อดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ การส่งออก และราคาสินค้าในระยะยาว

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที และการทำประกันความเสี่ยงในเรื่องค่าเงินและประกันการชำระเงินของลูกค้า เพื่อป้องกันผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งค่าและผลกระทบในกรณีที่ลูกค้าไม่ชำระค่าสินค้า

ส่วนปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่ กกร.คาดว่าขยายตัวได้ 3.5-4% ในปีนี้ เพราะปัญหาน้ำท่วมไนภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง อีกทั้งเชื่อว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น

"ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการรายงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังไม่พบผลกระทบต่อกิจกรรมต่างๆทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ที่มีผลกระทบเกิดขึ้นในภาพรวม"

นายปรีดี กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ ที่ร่วมกันลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งยังเตรียมทำแผนการฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ประสบภัยเริ่มคลี่คลายแล้ว โดยการฟื้นฟูและการซ่อมแซมบ้านเรือนภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย เชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ภาคสถาบันการเงินได้มีให้ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ โดยพักชำระเงินต้น และการให้วงเงินเงินกู้เพื่อซ่อมแซม ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือที่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและความสามารถของสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะช่วยเหลือลูกค้าได้มากหรือน้อยแค่ไหน ซึ่งการช่วยเหลือของภาคสถาบันการเงินเป็นการทำให้ลูกค้ายังสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และสามารถกลับมาดำเนินงานต่างๆได้หลังจากปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งเสริมภาคธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีการศักยภาพที่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายฝ่ายต้องพูดคุยกัน โดยมองว่าการขยายตลาดไปยังต่างประเทศของธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจและเป็นโอกาสในการขยายการเติบโตของธุรกิจ และการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านรอบๆประเทศไทย ซึ่งประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านมีความนิยม อุปโภคและบริโภคสินค้าของไทยกันอย่างมาก ทำให้เห็นถึงโอกาสที่จะเข้าไปเจาะตลาดในประเทๆเพื่อนบ้านซึ่งเป็นไปได้เร็วที่สุด

โดยแนวทางการขยายตลาดไปยังต่างประเทศจะต้องได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเดินสายโรดโชว์ รวมถึงการทำการจับคู่กันทางธุรกิจ (Business Matching) เพื่อทำให้สามารถมีพันธมิตรเข้ามาเพื่อเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน และได้พันธมิตรเข้ามาขยายตลาดในแต่ละประเทศที่มีความชำนาญ

ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นของภาคการส่งออกมากกว่าความเชื่อมั่นของภาคการบริโภคในประเทศ เพราะการกระจายรายได้ของภาครัฐจากงบประมาณที่เบิกใช้ไปบางส่วน ยังไม่ลงมาถึงกลุ่มคนฐานราก หรือลงมาแล้วแต่น้อยมาก ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มคนฐานรากซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ยังคงชะลอตัว ประกอบกับการท่องเที่ยวที่แม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กระจุกตัวแค่ในหัวเมืองใหญ่ สวนทางกับแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองและพื้นที่ย่อยๆเพิ่มขึ้น และทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อช่วยให้การกระจายรายได้เข้าถึงคนทุกภาคส่วน และช่วยให้การจับจ่ายใช้สอยในประเทศกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ