โพล เผยคนอีสานที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมต้องการให้รัฐเยียวยาครัวเรือนละ 5,000-8,000 บาท

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 11, 2017 14:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจน้ำท่วมอีสาน 2560 พบครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม 68.0% โดยครัวเรือนที่เดือดร้อนมากและต้องการให้รัฐบาลเยียวยาครัวเรือนละ 5,000-8,000 บาท มีประมาณ 13.6%, 54.2% เห็นว่ามีการเตือนภัยที่ดี, 61.1% พอใจกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม, 71.6% เห็นว่านายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องลงพื้นที่น้ำท่วม และ 20.7% ได้บริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือแล้ว

"มีผู้ไม่เดือดร้อนเลย 32.0% ขณะที่ 68.0% ได้รับความเดือดร้อน โดยมีผู้เดือดร้อนเพียงเล็กน้อย 40.9% เดือดร้อนมากแต่ไม่ต้องเยียวยา 13.5% และเดือดร้อนมากและต้องการให้รัฐบาลเยียวยา 13.6% ทั้งนี้เงินช่วยเหลือที่ต้องการให้รัฐเยียวยา มีค่าฐานนิยมที่ 5,000 บาท และค่ามัธยฐานที่ 8,000 บาท ซึ่งสอดคล้องกับการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมครัวเรือนละ 5,000 บาท และเพิ่มเติมให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอีกครัวเรือนละ 3,000 บาท" นายสุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ระบุในเอกสารเผยแพร่

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก พบว่า อันดับหนึ่ง 43.5% เห็นว่าเกิดจากฝนตกหนัก รองลงมา 35.5% เกิดจากทั้งฝนตกหนักและการบริหารจัดการของภาครัฐ และ 21.0% เกิดจากการบริหารจัดการของภาครัฐ

ส่วนการเตือนภัยน้ำท่วมของภาครัฐ พบว่า ส่วนใหญ่ 54.2% ประเมินให้ระดับดีถึงดีมาก (49.1% ประเมินให้ระดับดี และ 5.1% ให้ระดับดีมาก) ขณะที่ 45.8% ประเมินให้ระดับแย่ถึงแย่มาก (36.5% ให้ระดับแย่ และ 9.3% ให้ระดับแย่มาก)

ความพอใจกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล พบว่าส่วนใหญ่ 61.1% พอใจ (50.8% พอใจเล็กน้อย และ 10.3% พอใจมาก) ขณะที่ 38.9% ไม่พอใจ (28.5% ไม่พอใจเล็กน้อย และไม่พอใจมาก 10.4%) โดยส่วนใหญ่ 71.6% เห็นว่านายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องลงพื้นที่น้ำท่วม ส่วนอีก 28.4% มองว่าไม่จำเป็น สำหรับการบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พบว่าส่วนใหญ่ 79.3% ยังไม่ได้บริจาค และ 20.7% บริจาคแล้ว

ทั้งนี้ อีสานโพล ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้ที่ภาคอีสานเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่ามา โดยสำรวจระหว่างวันที่ 5-7 ส.ค.60 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,477 ราย ในพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ