(เพิ่มเติม) นายกฯ ประชุมมอบนโยบายจัดทำงบฯ ปี 62 เน้นบูรณาการงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์และเชิงพื้นที่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 16, 2017 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ซึ่งจะเป็นการนำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 รวมถึงยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ไปใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนและจัดทำคำขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 และมีความเชื่อมโยงกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2558-2564) นโยบายสำคัญของรัฐบาล และแผนแม่บทอื่นๆ

ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 สามารถขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินในระดับภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง และมีการจัดสรรงบประมาณที่มีการบูรณาการงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์และเชิงพื้นที่ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการวางแผนและพัฒนาพื้นที่ระดับภาคที่มีความสอดคล้องกัน

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง

2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน

4. ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน

5. ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

และ รายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ รายการเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวน 6 ภาค ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณภาคเหนือ

2. ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

3. ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณภาคกลาง

4. ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณภาคตะวันออก

5. ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณภาคใต้

6. ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณภาคใต้ชายแดน

ซึ่งแต่ละภาคจะนำยุทธศาสตร์ที่ 9 การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มาเป็นยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาพื้นที่ และได้กำหนดยุทธศาสตร์ชี้นำเพิ่มเติม ทั้งในมิติบูรณาการ (Agenda) และมิติกระทรวง/หน่วยงาน (Function) เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการเสนอขอจัดสรรงบประมาณลงในภาค/พื้นที่ อย่างเหมาะสมต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าเหมาะสมกับประเทศไทย สามารถดูแลได้ทั่วถึงทุกกลุ่ม ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยให้สอดคล้องกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นำไปสู่แผนปฏิบัติทุกๆ 5 ปี และนำพาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0

"โดยในช่วง 5 ปีแรก ยืนยันว่าทุกอย่างในประเทศจะเริ่มเข้าที่ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม ประเทศชาติจะมั่นคง เริ่มมีทิศทางชัดเจนขึ้น เพราะเรามองในมิติของภาค พื้นที่ ดูความต้องการของประชาชนเป็นหลัก" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมระบุว่า ระบบงบประมาณนั้นประเทศไทยต้องใช้งบภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจเป็นตัวนำในการพาประเทศไปในช่วงแรก ระหว่างที่เรายังไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งได้มากเท่าที่ควร ประชาชนต้องพึ่งพาอาศัยการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงจุดอ่อนของการบริหารจัดการภาครัฐของไทย จึงได้ส่งเสริมให้เกิดวาระการพัฒนาในมิติพื้นที่ ภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจที่ต้องเชื่อมโยงการทำงานกับเป้าหมายพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาในระดับภาคเป็นตัวชี้วัดที่มีความแตกต่างกัน

"วันนี้แบ่งออกเป็น 6 ภาค จะพัฒนาอะไรต้องมองขีดความสามารถของภาคเป็นสำคัญ จึงอยากให้มีการปรับปรุงการใช้งบประมาณไปสู่ระดับภาคและกลุ่มจังหวัดให้มากขึ้น ต้องมีการจัดทำแผนพัฒนาระดับภาคไปสู่แผนปฏิบัติ โดยคำนึงถึงศักยภาพและอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ มองอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจรายภูมิภาค รายได้ประชากรรายจังหวัด โดยจะต้องหาแนวทางที่ให้ทุกจังหวัดมีรายได้ต่อคนไม่แตกต่างกันมากเกินไป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานต้องลงไปดูในพื้นที่จริง และต้องแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยจะต้องร่วมมือกันตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดกลุ่มจังหวัด แล้วนำกลับมาพิจารณาว่าแต่ละพื้นที่จำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพในด้านใดบ้าง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ลดความเลื่อมล้ำ และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึงจากการสำรวจ พบว่ายังคงมีประชาชนที่รายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปีที่ลงทะเบียนไว้ประมาณ 14 ล้านคน และจากการตรวจสอบมีผู้ที่ผ่านเกณฑ์ ประมาณ 12-13 ล้านคน

"ให้แต่ละภาคไปหาเป้าหมายให้เจอ ว่าโตแบบไหน ให้บริหารจัดการให้ได้ ทั้งด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การแปรรูปให้เพียงพอในพื้นที่ ถ้าเหลือก็แบ่งปันและค้าขายกับภูมิภาคอื่นๆ ได้"นายกรัฐมนตรีกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ