สภาพัฒน์ ยันแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลักพัฒนาศก.ประเทศเดินหน้าท่ามกลางความท้าทายจากใน-ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 29, 2017 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวในหัวข้อ ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศไทย ในงาน Thailand Focus 2017 ภายใต้แนวคิด“Establishing the New Engine" ว่า สภาพัฒน์ได้มีส่วนร่วมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะ และการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลชุดต่อๆ ไปใช้นำพาประเทศไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ โดยที่กฎหมาย และนวัตกรรม จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้สำเร็จลุล่วงไปได้

แม้ว่าในช่วงที่ไทยประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เศรษฐกิจและการค้าของไทยยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งล่าสุดสำหรับปี 60 นี้ สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.7% ซึ่งถือเป็นสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดี และคาดว่าในปีต่อๆ ไปจะสามารถเติบโตได้ในระดับ 5%

"รัฐบาลได้วางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนำไปเป็นส่วนหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ขณะเดียวกันมีคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมอบหมายให้สภาพัฒน์เป็นผู้วางเป้าหมายและกรอบการทำงานในระยะยาวให้กับยุทธศาสตร์ 20 ปีนี้ ซึ่งเป้าหมายและกรอบการทำงานได้อธิบายถึงโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยจะต้องเผชิญจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ"

สำหรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มี 6 ประเด็นสำคัญที่สภาพัฒน์มุ่งเน้นการพัฒนา ประกอบด้วย 1.ความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงด้านพลังงาน ความมั่นคงในโลกไซเบอร์ และความมั่นคงทางอาหาร 2.การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ 3.ทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลได้เน้นย้ำถึงการวางแผนการออมหลังวัยเกษียณ และคุณภาพการศึกษา 4.การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ 5.ปัญหาสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน 6.การปฏิรูปประเทศ ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในภาพรวมทั้งหมด

ในด้านเศรษฐกิจนั้น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายใน 20 ปี ซึ่งสภาพัฒน์ได้คาดการณ์การเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวมาอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์ จากระดับ 6,500 ดอลลาร์ในปัจจุบัน ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 จะเป็นระยะ 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่ง SMEs และ Startup จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่ความท้าทายนอกประเทศ ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งก่อให้เกิดภัยคุกคามทางความมั่นคง โดยเฉพาะอาชญากรรมในโลกออนไลน์ ขณะที่ความท้าทายภายในประเทศ เช่น แนวโน้มประชากรของไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ เนื่องจาก 20% ของประชากรกำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% หลังการดำเนินยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทายดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ