"กองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง"ทางออกที่แท้จริงหรือแค่จุดพลุ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 7, 2017 10:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปัญหาราคายางเป็นเรื่องประจำถิ่นสำหรับประเทศไทยที่ต้องตามแก้ไขกันมาหลายยุคหลายรัฐบาล และยังไม่พบกับทางออกที่ยั่งยืน จากการที่ประเทศไทยถูกยกเป็นผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก และขาดความร่วมมืออย่างแท้จริงจากประเทศผู้ส่งออกยางด้วยกัน แม้จะมีความพยายามจับกลุ่มกันมาหลายครั้งเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการต่อรองกับผู้ค้าเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาแต่ก็ยังเป็นแค่ภาพฝัน

ด้วยความที่ยางพารานอกจากจะเป็นสินค้า Commodity สำคัญที่มีความเกี่ยวพันกับตลาดโลก และยังโยงกับการเมืองภายในของแต่ละประเทศ ทำให้การแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ก็เช่นกัน แม้จะเป็นรัฐบาลทหารที่ได้รับการคาดหวังว่าการไร้ฐานการเมืองจะช่วยให้จัดการกับปัญหาได้อย่างเด็ดขาด แต่เมื่อราคายางหวนกลับมาถึงจุดตกต่ำในรอบนี้ ก็ยังต้องเผชืญกับเสียงเรียกร้องจากเกษตรกรชาวสวนยางให้เข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด

ปี 54 เป็นปีที่ราคายางพุ่งสูงสุด 180 บาท/กก.ชาวสวนยางชื่นมื่นมาก ชีวิตความเป็นอยู่อู้ฟู่ ซื้อรถป้ายแดง ซื้อรถบรรทุก แต่พอวันนึงราคาพลิกผัน ร่วงลงอย่างต่อเนื่องเริ่มทยอยขายทรัพย์สิน รถบรรทุกที่เคยมีถูกขายออกทีละคัน ทีละคัน เหลือเท่าที่จำเป็น ชาวสวนบางรายที่ไม่มีรถบรรทุกก็ต้องขายสวนยาง แต่การยื่นมือของรัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือด้านราคาจะทำอย่างไรเพราะที่สำคัญคือสินค้าหลักเป็นยางต้นน้ำ การจะขายให้ได้ราคาดีก็ทำได้ยาก นี่คือสิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์ พยายามส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางปรับปรุงพัฒนาตัวเองมาสู่การผลิตกลางน้ำและปลายน้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ยางพารา

ดังนั้น การสร้างเสถียรภาพราคายางจึงเป็นเรื่องจำเป็น ส่วนจะทำอย่างไรนั้นคนวงการยางต่างเห็นว่า ความร่วมมือคือกุญแจแห่งความสำเร็จ ภาครัฐและเอกชนต้องทำงานสอดประสานกัน และต้องทำจริงๆ ทำให้เกิดผลต่อให้ใช้เวลานานก็ต้องเดินหน้าต่อไป เช่น การเพิ่มปริมาณการใช้ภายในประเทศ เมื่อคิดจะทำก็ต้องทำให้เกิดผล

แนวคิดการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง ถูกหยิบยกชึ้นมาอีกคร้งด้วยความหวังว่าการดึงเอกชนผู้รับซื้อยางรายใหญ่ในฐานะ 5 เสือวงการยางเข้ามาร่วมมือก่อตั้งกองทุนกับ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั้ง บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA), บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด, บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด, บมจ.ไทยฮั้วยางพารา และ บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น ประเทศไทย (TRUBB) ลงทุนร่วมกัน กยท.องค์กรละ 200 ล้านบาท รวมเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้น 1,200 ล้านบาท เพื่อใช้เข้าซื้อยางในตลาด

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท.ระบุว่า ทุนที่มีจะใช้นำไปซื้อยางในประเทศเพื่อใช้แปรรูปในประเทศ ซึ่งจะไม่เหมือนในอดีตที่ซื้อเพื่อมาเก็บสต็อก กลายเป็นภาระต้องมาดูแลรักษาและก็มีความเสี่ยง แต่กองทุนนี้ซื้อเพื่อนำไปใช้จริง เป็นการซื้อเพื่อแปรรูปในประเทศ และหากเงินกองทุนฯหมดก็สามารถเพิ่มทุนได้ เพราะเปิดช่องไว้

"เป็นการปฏิบัติที่ชัดเจนภายใต้การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน จะสามารถรักษาระดับราคา ผลักดันราคาให้อยู่ในระดับสมดุลอีกครั้ง ถือเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการ โดยจะมีเงินทุนเริ่มต้นร่วมกัน 1,200 ล้านบาท ในการใช้ซื้อยางทั้งในตลาดซื้อขายจริงและตลาดซื้อขายล่วงหน้า ในหลักการแล้วหากใช้ในตลาดล่วงหน้าสามารถขยายผลได้ถึง 10 เท่า จากเงิน 1,200 ล้านบาท จะขยายผลได้ถึง 12,000 ล้านบาท และซื้อยางได้ประมาณ 200,000 ตัน ถือเป็นมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผลักดันให้เป็นรูปธรรมได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ราคายางกลับสู่ดุลยภาพได้เร็วขึ้น"

นอกจากนี้ กยท.ยังอยู่ระหว่างจัดทำร่างยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (60-79) เสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์คาดว่าจะนำเสนอต่อไปยังคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้ในอีก 2 เดือนข้างหน้าก่อนประกาศใช้ ซึ่งร่างฯดังกล่าวได้มีการลงพื้นที่ทั้ง 7 เขต เชิญผู้แทนเกษตรกรมาร่วมให้ความเห็น

ผู้ว่า กยท. เชื่อว่าร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหายางพาราได้ในเชิงที่ว่าปัจจุบันเราต้องพึ่งพิงตลาดต่างประเทศมากเกินไป และเมื่อเวลามีความผันผวนในระบบเศรษฐกิจโลกก็จะกระทบยางในแบบที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าเราสามารถควบคุมปริมาณยางทั้งด้านการปลูก การใช้ อยู่ในมือเราได้ เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ก็จะได้รับราคาที่สะท้อนถึงความเป็นอยู่ของในประเทศได้

ขณะที่นักวิชาการยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับการตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง เพราะมองว่าไม่น่าจะได้ผลในระยะยาว แต่ยังเป็นเหมือนแก้ปัญหาระยะสั้น อีกทั้งการใช้เงินเข้าไปแก้ไขปัญหายางทั้งระบบด้วยเม็ดเงินเพียง 1,200 ล้านบาทไม่น่าจะเพียงพอ ซึ่งในอนาคตกองทุนนี้อาจจะมีปัญหาถ้าไม่มีเม็ดเงินเข้ามาเสริม

นายกัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หากพิจารณาจากข้อมูลวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนฯดังกล่าวเพื่อซื้อยางมาเก็บ มันก็คือ Buffer Stock นั่นเอง แม้ว่าในทางทฤษฎีจะสามารถรักษาเสถียรภาพราคายางได้ในระดับหนึ่ง จากการซื้อยางเมื่อราคาต่ำมาเก็บและขายออกเมื่อราคาปรับสูงขึ้น เหมือนเป็นการสร้างดีมานด์เทียม แต่ทำได้ในช่วงเวลาจำกัด เพราะเมื่อถึงเวลาก็จะเกิดปัญหาเมื่อผลผลิตออกมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ไม่ทันกับการใช้ยางในสต็อก และอีกปัญหาคือเมื่อซื้อไปเก็บแล้วใครดูแล เพราะมันจะมีค่าใช้จ่ายตามมาเต็มไปหมด ซึ่งตรงนี้ต้นทุนอาจจะสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของราคายางหรือไม่

"เหมือนจุดพลุแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือเปล่า ไม่ยั่งยืนแน่นอนถ้าจะซื้อมาเก็บ...Buffer Stock จะเวิร์คถ้าการซื้อเก็บกับปล่อยออกมันเท่ากัน แต่ถ้าเอามาเก็บมันก็คือการแทรกแซงอุปสงค์อุปทาน ถ้าจะซื้อแบบนี้ทำไมต้องตั้งกองทุน เพราะถ้าจะซื้อมาแปรรูปเลย ทำไมไม่ให้เอกชนต่างคนต่างซื้อในตลาดให้ได้คนละ 200 ล้านแล้วก็รับผิดชอบกันไปในเมื่อก็น่าจะดึงราคาได้เหมือนกัน"นักวิชาการ ให้ความเห็น

นอกจากนั้น ยังต้องดูกันต่อไปว่าแนวคิดตั้งกองทุนนี้เป็นแค่ความจริงที่เงินก้อนแรกหรือไม่ เมื่อใช้เงินก้อนแรกหมดก็เชื่อว่าจะถอนตัวกันไป เพราะกองทุนจะอยู่ได้ต้องมีเงินเข้า คำถามคือใครจะเอาเงินมาใส่ได้ตลอด เพราะแค่ 1,200 ล้านบาทเดี๋ยวก็หมด ไม่น่าจะอยูได้ยาว

"ต้องดูว่าถ้าเงินกองทุนหมด แล้วต้องเพิ่มทุนทุกคนพร้อมมั้ย จะเป็นการทำ CSR หรือเปล่า เพราะเดี๋ยวนี้ค่าโฆษณาแพง อาจจะได้เรื่อง CSR ไป แต่เกษตรกรเราจะถูกเลี้ยงด้วยวิธีแบบนี้ตลอด...น่าจะเป็นเหมือนการกลไกตลาดทางหนึ่งเพราะยางที่ซื้อมาเอาไปใช้ทันทีหรือเปล่า ถ้าซื้อมาเก็บๆที่ไหน มันก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาใครจะเป็นผู้รับภาระ"

ทั้งนี้ อยากแนะนำให้ปล่อยกลไกตลาดเป็นปัจจัยหลักที่เกษตรกรต้องปรับตัวตามว่าจะผลิตหรือหยุดผลิต รัฐมีหน้าที่ให้ความรู้ว่าแนวโน้มความต้องการยางเป็นอย่างไร ราคาในอนาคตจะเป็นอย่างไร คนที่เตรียมจะปลูกจะได้เลือกเองว่าควรจะปรับตัวอย่างไร นอกจากนี้เรื่องของการบริหารจัดการผลผลิตก็สำคัญ

"สรุปคือในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์มาตรการที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ในอดีตมันโอเค แต่ปัจจุบันน่าจะเป็นเรื่องของกลไกตลาดมากกว่า ไม่ควรไปทำอะไรที่ทำให้กลไกตลาดบิดเบี้ยว เกษตรกรควรปรับตัวตามกลไกตลาด การแทรกแซงกลไกตลาดโดยรัฐ...วิธีการแบบนี้อาจจะช่วยกระตุ้นในยุคที่เราผลิตไม่พอ จูงใจให้เกษตรกรผลิต แต่ปัจจุบันเกษตรกรผลิตเยอะเกินแล้วเรามานั่งซื้อแบบนี้ ซื้อยังไงก็ไม่หมด เพราะฉะนั้นแนวทางที่ถูกคือเกษตรกรควรปรับตัวตามกลไกตลาดมากกว่า รัฐอาจจะช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆได้ เช่น ปลูกพืชทดแทน ภาครัฐก็ต้องแนะนำว่าสินค้าเกษตรตัวไหนที่เหมาะสมกับพื้นที่"

ด้านนายหลักชัย กิตติพล ประธานกิตติมศักดิ์ บมจ.ไทยฮั้วยางพารา หนึ่งใน 5 เสือ ระบุว่าด้วยความที่อยู่ในธุรกิจนี้มานาน รู้ว่าราคายางมีความผันผวนเป็นเรื่องปกติ ในช่วงที่ราคายางลดลงมาอย่างหนัก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเก็งกำไร ค่าเงินบาทและเงินเยนแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะตลาดยังขาดความมั่นใจเกี่ยวกับการจำกัดโควตา รวมถึงข่าวลือต่างๆ ซึ่งไม่เป็นผลดี ทำให้ราคาตกต่ำลงมา ส่วนมีการคาดว่าราคาจะอยู่ในช่วง 70-80 บาท/กก.หรือไม่นั้น คงต้องดูที่ทิศทางราคาน้ำมันเป็นหลัก ถ้าราคาน้ำมันไม่แกว่งมากจนเกินไป ก็น่าจะมีโอกาสสูงขึ้นบ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม ยางพาราถือเป็นสินค้าที่มีจำกัด ถ้าบริหารจัดการดีๆ ก็ไม่น่าจะทำให้ราคาตกต่ำมากนัก ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และต้องทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อที่จะทำให้เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่ภาครัฐความไม่ต่อเนื่องของนโยบายจะเป็นอุปสรรคบ้าง แต่หลังจากมีองค์กรที่เข้ามาดูแลปัญหายางโดยตรงก็เชื่อว่ามาถูกทางแล้ว แต่รัฐกับเอกชนต้องร่วมมือกันไปตลอดทาง ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหยุดกลางทาง มันก็ไม่เกิดผล

"ถ้าจะแก้ปัญหาราคายางตกต่ำด้วยการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น การสร้างโรงงานยางแค่โรง 2 โรงมันไม่มากพอที่จะเพิ่มการใช้ยางในประเทศ การรอนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนก็ช้า จึงจำเป็นต้องจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมาเพื่อให้โรงงานต่างๆเข้ามา...จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ราคายางก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกเหมือนเมื่อก่อน พอเศรษฐกิจโลกมีปัญหา จีนหยุดซื้อ ความต้องการจากต่างประเทศไม่มีเข้ามา ราคาก็ตก พอราคาตกเกษตรกรก็ก่ายหน้าผาก"นายหลักชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ