EXIM Bank-BOI หนุนเอกชนทำการค้า-ลงทุนใน CLMV ชี้เป็นตลาดศักยภาพเติบโตสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 21, 2017 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงานสัมมนา "EXIM BANK Overseas Investment Forum 2017" ว่า ปัจจุบันกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดของโลกในระดับ 7 – 8% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 170 ล้านคน และมีจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศ CLMV มีมาตรการกีดกันทางการค้าไม่มากและภาคการผลิตอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา ส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศอยู่ในระดับสูง จึงเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการค้าการลงทุน

ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกของไทยไป CLMV ช่วง 6 เดือนแรกปี 60 ขยายตัวถึง 13.5% สูงกว่ามูลค่าส่งออกรวมที่ขยายตัว 7.8% จึงมองว่าผู้ประกอบการไทยควรรุกเข้าไปลงทุนหรือขยายตลาดใน CLMV เพื่อขยายฐานลูกค้า โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากการที่สินค้าไทยเป็นที่นิยม และความคุ้นเคยใกล้ชิดทางวัฒนธรรม ซึ่งมั่นใจว่าผู้ประกอบการไทยทำตลาดใน CLMV ได้อย่างไม่ยากมากนัก

นายพิศิษฐ์ แนะนำผู้ประกอบการที่จะเข้าไปลงทุนต่างประเทศจะต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของแต่ละประเทศ รวมทั้งศึกษากฎระเบียบข้อกฎหมายและสถานการณ์ทางการเมืองให้ดีก่อนตัดสินใจวางแผนการลงทุน โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนและค้าขายสินค้าต่างๆ ด้วยบริการสินเชื่อ ทั้งการให้กู้ตรงและการให้กู้ร่วมกับสถาบันการเงินอื่น การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน บริการประกันความเสี่ยงการลงทุน บริการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ และการเจรจากับภาครัฐและเอกชนในต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ภาคเอกชนที่สนใจและมีศักยภาพสามารถขยายการลงทุนในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีบริการประกันความเสี่ยงการลงทุน "Political Risk Insurance" หรือ "Investment Insurance" ที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้นักธุรกิจเข้าไปลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถนำรายได้กลับประเทศไทยท่ามกลางความเสี่ยงทางการเมืองในต่างประเทศ โดยปี 58 มูลค่าการรับประกันความเสี่ยงทางการเมืองของธุรกิจทั่วโลกสูงถึง 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.67 แสนล้านบาท

นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า มูลค่าการรับประกันความเสี่ยงดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งในแง่ของมูลค่าธุรกิจและมูลค่าการขอรับค่าสินไหมทดแทน โดยในปี 59 องค์กรรับประกันทั่วโลกมีมูลค่าธุรกิจใหม่ภายใต้การประกันความเสี่ยงทางการเมืองสูงถึง 1.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งภูมิภาคที่มีสัดส่วนมูลค่าธุรกิจใหม่สูงที่สุดได้แก่ อาเซียน มีสัดส่วนราว 17% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.91 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมา คือ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช หรือ CIS และกลุ่มประเทศละตินอเมริกา

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า BOI ยังคงเดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพราะการลงทุนในต่างประเทศจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีการเติบโตมากกว่าการที่อยู่เพียงแค่ในประเทศเท่านั้น ซึ่งกลุ่มประเทศที่ BOI เล็งเห็นถึงโอกาสในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนและขยายฐานการผลิต คือ กลุ่มประเทศ CLMV ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่สูง ทำให้เป็นโอกาสในการลงทุนขยายฐานการผลิตและขยายตลาดของผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมและมีความแข็งแกร่งที่เพียงพอ

โดยการสนับสนุนของ BOI ในการขยายการลงทุนไปในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยได้มีการร่วมมือกันทำงานในรูปแบบบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน ได้แก่ รัฐบาลไทย กระทรวงพาณิชย์ และ EXIM BANK เป็นต้น เพื่อร่วมกันทำงานเพื่อช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ในเรื่องของฐานข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของการทำธุรกิจในประเทศที่ต้องการลงทุน การช่วยเหลือและที่ปรึกษาด้านการวางแผนธุรกิจ การจับคุ่ธุรกิจ และกฏหมาย รวมไปถึงความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตร

นอกจากนี้ BOI ยังมีการเข้าไปจัดตั้งสำนักงานในประเทศเมียนมา เวียดนาม ในเมืองโฮจิมินห์ และอินโดนีเซีย เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกในการติดต่อและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปในลงทุนในประเทศที่มีสำนักงานของ BOI ตั้งอยู่ ซึ่งรูปแบบของสำนักงาน BOI ในต่างประเทศ จะเป็นรูปแบบการให้บริการแบบ One Stop Service ที่มีพันธมิตรทั้งหมดตั้งอยู่ในสำนักงาน เพื่อทำให้การติดต่อและประสานงานมีความสะดวกสบายและเกิดความรวดเร็วมากขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยอย่างจริงจัง

ด้านแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทยช่วงที่เหลือของปีนี้ BOI มองว่ายังคงมองว่าภาพรวมยังคงมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกที่มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับ BOI แล้วมูลค่าราว 2.91 แสนล้านบาท และยังมั่นใจว่ายอดการขอยื่นเข้าโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้มูลค่า 6 แสนล้านบาท โดยในครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในสัดส่วน 36% จากคำขอทั้งประเทศเฉพาะในโครงการ EEC มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท โดย BOI ได้ยังมั่นใจว่ามูลค่าการยื่นคำขอการส่งเสริมการลงทุนใน EEC จะเป็นไปตามเป้าหมาย มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ส่วนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) พบว่ามีนักลงทุนญี่ปุ่นที่นำเงินเข้ามาลงทุนโดยตรงมากที่สุด หรือคิดเป็นสัดส่วน 40-50% ของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ