(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.ย.60 ขยายตัว 0.86%, Core CPI ขยายตัว 0.53%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 2, 2017 11:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนก.ย.60 อยู่ที่ 101.22 ขยายตัว 0.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.58% จากเดือนส.ค.60 ส่งผลให้ CPI ช่วง 9 เดือนปี 60 ขยายตัว 0.59%

"CPI สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น" กระทรวงพาณิชย์ ระบุ

ส่วน Core CPI เดือน ก.ย.60 อยู่ที่ 101.44 ขยายตัว 0.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.09% จากเดือนส.ค.60 ส่งผลให้ Core CPI ช่วง 9 เดือนปี 60 ขยายตัว 0.54%

ในเดือน ส.ค.นี้ ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 102.13 ขยายตัว 0.06% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.70% จากเดือน ส.ค.60 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 100.72 ขยายตัว 1.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.50% จากเดือนส.ค.60

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ใหม่เป็นขยายตัว 0.4-1.0% ลดลงจากเดิมคาด 0.7-1.7%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย.60 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.86% เป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากผลของราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบในตลาดโลกรวมตัวกันปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการปรับขึ้นของราคาบุหรี่และสุราจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่เมื่อวันที่ 16 ก.ย.60 รวมทั้งการสูงขึ้นของผักสด เนื่องจากฝนตกชุกน้ำท่วมขังพื้นที่เพาะปลูกบางแหล่งทำให้ผักเน่าเสีย ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) ขยายตัวสูงขึ้น 0.59%

ในเดือน ก.ย.60 มีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าทั้ง 422 รายการ ดังนี้ สินค้าที่ราคาสูงขึ้น 157 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร นมสด ผลไม้ นมผง ไข่ไก่ และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง 69 รายการ เช่น กุ้งขาว ไก่สด น้ำมันพืช กาแฟผงสำเร็จรูป เป็นต้น ในขณะที่สินค้าอีก 196 รายการราคาไม่เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสำหรับปีนี้ใหม่มาอยูที่ 0.4-1.0% จากก่อนหน้านี้ที่ 0.7-1.7% เนื่องจากมีการปรับสมมติฐานที่สำคัญซึ่งมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อปีนี้ใหม่ คือ อัตราแลกเปลี่ยน แข็งค่าขึ้นมาอยู่ในระดับ 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์ จากก่อนหน้านี้ประเมินไว้ที่ 34-36 บาท/ดอลลาร์ ในขณะที่สมมติฐานด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ยังให้ไว้เท่าเดิมที่ 45-55 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยประเมินว่าราคาน้ำมันโลกจะไม่ได้ปรับสูงขึ้นมาก พร้อมกันนี้ยังคงสมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ไว้ที่ระดับเดิมคือ 3-4%

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับการผลิต และรายได้เกษตรกร รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน การส่งออกที่ขยายตัวขึ้นเป็นลำดับจากการฟื้นตัวของการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 60 ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนอัตราเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน

"ตอนนี้เราคงต้องจับตาเรื่องสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะตัวนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราเงินเฟ้อบ้าง เพราะราคาสินค้าที่นำมาจำหน่ายจะถูกกว่าท้องตลาด ตอนนี้กองดัชนีฯ กำลังประเมินว่าจะมีผลต่อเงินเฟ้อมากน้อยเพียงใด ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่าช่วยลดแรงกดดันเรื่องค่าใช้จ่ายลงได้"น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อเงินเฟ้อ คือ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้าสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และความไม่แน่นอนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ และสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ