กบง.คงราคาขายปลีก LPG เดือนต.ค.ที่ 21.15 บ./กก. แม้ราคาตลาดโลกพุ่ง,ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯดูแล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 5, 2017 07:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุม กบง.เมื่อวานนี้ (4 ต.ค.) ว่า ที่ประชุมกบง. ได้พิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) อ้างอิงโครงสร้างราคาก๊าซ LPG อ้างอิงสำหรับเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งมีราคาปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนค่อนข้างมาก จึงมีมติให้ใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อส่งสัญญาณให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG คงที่ อยู่ที่ 21.15 บาท/กิโลกรัม (กก.)

ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก และให้แนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG สามารถดำเนินต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ ประกอบกับเพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิ์ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีเวลาปรับตัว

สำหรับราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนตุลาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 577.50 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 87.50 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนกันยายน 2560 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.1132 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 33.3160 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.0246 บาท/กก. จาก 17.6970 บาท/กก. เป็น 20.7216 บาท/กก.

ดังนั้น ที่ประชุมจึงให้ใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯเข้ามาดูแลเพื่อให้ราคาอ้างอิงสำหรับเดือนตุลาคม อยู่ในระดับเดิม โดยให้ปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ จำนวน 3.0246 บาท/กก. จากเดิมที่กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 3.5719 บาท/กก. เป็นชดเชย 6.5965 บาท/กก. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม การรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกก๊าซ LPG ดังกล่าว จะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องรับภาระชดเชยราคา โดยมีรายจ่ายสุทธิสูงถึง 913 ล้านบาท/เดือน ซึ่งหากแนวโน้มสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ภาระการชดเชยราคาของกองทุนน้ำมันฯ จะเพิ่มมากขึ้น จึงอาจมีความจำเป็นต้องมีการพิจารณาถึงสถานะของกองทุนน้ำมันฯ รวมถึงแนวทางการปรับราคาให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป

สำหรับฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2560 อยู่ที่ 37,964 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีในส่วนของก๊าซ LPG อยู่ที่ 5,342 ล้านบาท และบัญชีในส่วนของน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 32,622 ล้านบาท

นายทวารัฐ กล่าวว่า ที่ประชุม กบง. ยังได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 พบว่า สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน (ณ มิถุนายน 2560) อยู่ที่ร้อยละ 14.41 แบ่งเป็น สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า ร้อยละ 3.23 สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนผลิตความร้อน ร้อยละ 8.88 และสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่ง ร้อยละ 2.30 ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายรวมตามแผนที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 14.48 ภายในปี 2560 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 2560 สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 14.50


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ