SCB EIC ชี้หลัง ICAO ปลดล็อกธงแดง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบิน-การท่องเที่ยวของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 9, 2017 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศปลดธงแดงประเทศไทยจากประเทศที่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบิน (SSC) หลังจาก ICAO เข้ามาตรวจสอบไทยในช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยการปลดธงแดง จะส่งผลให้สายการบินสัญชาติไทยสามารถเปิดเส้นทางใหม่ เพิ่มความถี่เที่ยวบิน เปลี่ยนขนาดเครื่องบิน และให้บริการแบบเช่าเหมาลำ (Chartered flight) ในประเทศที่มีมาตรการออกมาระงับการบิน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

ทั้งนี้ ICAO ได้ปักธงแดงไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2015 จากปัญหาด้านการกำกับดูแลด้านมาตรฐานความปลอดภัยการบินพลเรือน จึงส่งผลให้ไทยจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลใหม่คือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เพื่อแก้ไขปัญหา 2 ส่วนหลักคือ การออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Certification) และการแก้ไขข้อบกพร่อง SSC 33 ข้อ

อีไอซี มองว่าการปลดธงแดงจะส่งผลดีต่อไทยทั้งในอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว สำหรับอุตสาหกรรมการบิน การปลดธงแดงจะช่วยสร้างความเชื่อถือของหน่วยงานด้านการบินของไทย และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวในการเลือกใช้สายการบินสัญชาติไทย อีกทั้งยังอาจส่งผลให้สำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) ปรับเพิ่มระดับมาตรฐานด้านการบินของไทยจากประเภท 2 ซึ่งห้ามการเปิดเส้นทางใหม่ในสหรัฐฯ เป็นประเภท 1 ดังเดิมก่อนถูกปักธงแดง สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางในรูปแบบการเช่าเหมาลำ เนื่องจากหลายสายการบินที่ได้ AOC recertification สามารถกลับมาให้บริการได้แล้ว

พร้อมมองว่า การแข่งขันระหว่างสายการบินมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้นจากการเปิดเส้นทางใหม่ และการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีหลายสายการบินเตรียมเปิดให้บริการในเส้นทางยอดนิยม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จากสนามบินหลักอย่าง สุวรรณภูมิและดอนเมืองหรือจากสนามบินรองอื่นๆ เช่น อู่ตะเภา เชียงใหม่ ภูเก็ต นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินยังส่งผลให้เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งชิงบุคลากรด้านการบิน เช่น นักบิน แอร์โฮสเตส วิศวกร และช่างเทคนิค เป็นต้น

อีไอซี มองข้อจำกัดจากปัญหาด้าน time slot และความจุของสนามบินทั้งในไทยและต่างประเทศ อาจทำให้การเพิ่มความถี่และเปิดเที่ยวบินใหม่ไม่ราบรื่นนัก ในปัจจุบัน สนามบินในไทยหลายแห่งเริ่มมี time slot ที่หนาแน่นแล้ว ประกอบกับจำนวนผู้โดยสารที่เกินขีดความสามารถในการรองรับ ในขณะเดียวกันสนามบินในต่างประเทศ โดยเฉพาะสนามบินในเส้นทางที่ได้รับความนิยม เช่น นาริตะของญี่ปุ่น และอินชอนของเกาหลีใต้ ก็ประสบกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ทำให้การเพิ่มความถี่และขยายเส้นทางอาจทำได้ไม่ง่ายนัก

ทั้งนี้ แผนการพัฒนาไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aeropolis) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) มีโอกาสประสบความสำเร็จเพิ่มสูงขึ้น นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมด้านการบินแล้ว การที่ CAAT สามารถปรับปรุงให้มีมาตรฐานในระดับโลกได้ จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น และดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในโครงการทั้ง 2 มากยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ