ครม.ไฟเขียวความตกลงด้านการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง-เห็นชอบตั้งสนง.ศก.การค้าฮ่องกงในไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 7, 2017 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเยผว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (ASEAN - Hong Kong, China Free Trade Agreement : AHKFTA) และร่างความตกลงด้านการลงทุนระหว่างรัฐบาลของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกับรัฐบาลของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (AHKIA)

ทั้งนี้ อาเซียนและฮ่องกงได้กำหนดให้มีการลงนามในร่างความตกลง AHKFTA และ AHKIA ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 (ASEAN Summit) ในวันที่ 12 พ.ย.60 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และกำหนดให้ความตกลงทั้ง 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ร่างความตกลง AHKFTA จะครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้า, การค้าบริการ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ แบ่งเป็น

1.1 การค้าสินค้า ฮ่องกงจะผูกพันลดภาษีสินค้าทุกรายการภายใต้ AHKFTA ที่ 0% ส่วนไทยจะผูกพันลดภาษีสินค้า โดยมีรูปแบบของการเปิดตลาด ดังนี้

  • กลุ่มสินค้าปกติ 1 ลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 3 ปี จำนวน 6,364 รายการ เช่น สับปะรด, ฝรั่ง, มะม่วง, ขนแกะ, ทองแดง, เครื่องดับเพลิง, กล้องถ่ายภาพยนตร์
  • กลุ่มสินค้าปกติ 2 ลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 10 ปี จำนวน 1,750 รายการ เช่น ผลไม้จำพวกส้ม, ยารักษาหรือป้องกันโรคที่มีเพนิซิลลิน, กลุ่มใยยาวสังเคราะห์ทำด้วยโพลิเอสเทอร์
  • กลุ่มสินค้าอ่อนไหว ลดภาษีเหลือ 0-5% ภายใน 12 ปี จำนวน 435 รายการ เช่น แป้งข้าวสาลี, เนื้อลิ้นจี่, ลำไย, โลหะป้องกันหัวรองเท้า, เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียมอื่นๆ
  • กลุ่มสินค้าอ่อนไหวสูง ลดภาษีเหลือน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50% ภายใน 14 ปี จำนวน 650 รายการ เช่น เครื่องนุ่งห่มและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องนุ่งห่ม, จานเบรก, เครื่องทำน้ำร้อนด้วยไฟฟ้า, กระเบื้อง
  • สินค้าที่นำออกจากการเจรจา รวม 359 รายการ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), ข้าว, ข้าวโพด, ไหม, ผลิตภัณฑ์นม, ไข่สัตว์ปีก, ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่บริโภคได้

1.2 การค้าบริการ สมาชิกอาเซียนและฮ่องกงมีข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการ แยกเป็นรายประเทศ ซึ่งข้อผูกพันของไทย คือ

  • การอนุญาตให้ผู้ให้บริการของภาคีสมาชิกอาเซียนเข้ามาลงทุนในไทย 74 สาขาย่อย แบ่งเป็น ผู้ให้บริการของภาคีสมาชิกอาเซียนสามารถถือหุ้นในกิจการได้ 25% ใน 2 สาขาย่อย คือ บริการให้เช่าวงจร และบริการสืบค้นข้อมูลออนไลน์/สืบค้นฐานข้อมูล, กรณีถือหุ้นในกิจการได้ 40% ใน 2 สาขาย่อย คือ บริการวีดีโอเท็กซ์/ บริการประชุมทางไกลและบริการประมวลผลข้อมูลออนไลน์ผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมสาธารณะ, กรณีถือหุ้นในกิจการได้ 49% ใน 51 สาขาย่อย เช่น บริการด้านกฎหมาย, บริการผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์, บริการด้านการศึกษาระดับประถมศึกษา (โรงเรียนนานาชาติ) และบริการด้านการศึกษาระดับมัธยมศึกษา เป็นต้น และกรณีถือหุ้นในกิจการได้ 70% ใน 19 สาขาย่อย เช่น บริการให้คำปรึกษาในการร่างเอกสารเกี่ยวกับกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (ไม่รวมกฎหมายในประเทศ) และบริการด้านพยากรณ์อากาศและอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น
  • การให้บริการโดยบุคคลธรรมดา โดยไทยผูกพันเปิดตลาดบริการใน 44 สาขาย่อย สำหรับบุคคลธรรมดา 2 ประเภท คือ ผู้เยี่ยมเยือนทางธุรกิจ (Business Visitor) โดยอนุญาตให้เข้ามาพำนักในไทยได้ไม่เกิน 90 วัน และผู้โอนย้ายภายในบริษัท (Intra-Corporate Transferee) ในระดับผู้จัดการ ผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญ โดยอนุญาตให้เข้ามาพำนักในไทย ครั้งแรกไม่เกิน 1 ปี และอาจขยายเวลาได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี
  • การอนุญาตให้ผู้ให้บริการของภาคีสมาชิกเข้าไปลงทุนในฮ่องกง โดยถือหุ้นได้ถึง 100% ในสาขาบริการต่างๆ จำนวนกว่า 90% ของสาขาบริการที่ฮ่องกงผูกพัน ยกเว้นบางสาขาที่ฮ่องกงเปิดตลาดแบบมีเงื่อนไข เช่น บริการวิศวกรรม บริการด้านโทรคมนาคม บริการด้านการเงิน เป็นต้น

ทั้งนี้ ฮ่องกงได้เปิดตลาดบริการตามที่ไทยเรียกร้อง ในสาขาบริการการผลิตเนื้อหารายการแก่ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ โดยผู้ให้บริการของภาคีสมาชิกสามารถถือหุ้นได้ถึง 100%

  • การให้บริการโดยบุคคลธรรมดา ฮ่องกงเปิดตลาดบริการในทุกสาขาที่ผูกพัน สำหรับบุคคลธรรมดา 2 ประเภท คือ ผู้เยี่ยมเยือนทางธุรกิจ (Business Visitor) โดยอนุญาตให้เข้ามาพำนักในไทยได้ไม่เกิน 90 วัน และผู้โอนย้ายภายในบริษัท (Intra-Corporate Transferee) ในระดับผู้จัดการ ผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญ โดยอนุญาตให้เข้ามาพำนักในฮ่องกงครั้งแรกไม่เกิน 1 ปี และอาจได้รับการอนุญาตให้ได้ถึง 5 ปี

1.3 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ อาเซียนและฮ่องกงได้จัดทำแผนงานภายใต้บทความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการของ AHKFTA ซึ่งครอบคลุม 5 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ 1.บริการวิชาชีพ 2.พิธีการศุลกากร 3.การอำนวยความสะดวกทางการค้า/โลจิสติกส์ 4.SMEs 5.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยฮ่องกงสนับสนุนเงิน 25 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง สำหรับโครงการความร่วมมือในระยะเวลา 5 ปี หลังความตกลง AHKFTA มีผลบังคับใช้

2 ร่างความตกลง AHKIA ครอบคลุมการคุ้มครองการลงทุนและการส่งเสริม และการอำนวยความสะดวกการลงทุน แบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก คือ 1.การคุ้มครองการลงทุนให้แก่นักลงทุนของภาคีหลังจากที่ได้เข้ามาจัดตั้งธุรกิจแล้วในอีกภาคีหนึ่ง รวมถึงการปฏิบัติต่อการลงทุนด้วยความเป็นธรรม และเท่าเทียมกัน และการให้ความคุ้มครองและความมั่นคงอย่งครบถ้วน และการคุ้มครองเรื่องการเวนคืนและการชดเชย และการโอนเงินที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเข้าและออกจากประเทศที่เป็นผู้รับการลงทุน 2.การส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกการลงทุน เช่น การสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน การทำให้กระบวนการสำหรับการยื่นขอและการอนุมัติการลงทุนง่ายขึ้น การส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลด้านการลงทุน และการจัดตั้งศูนย์การลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวในแต่ละภาคี เป็นต้น

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การผูกพันของไทยภายใต้ความตกลง AHKFTA และความตกลง AHKIA ไม่มีผลให้ไทยต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศ โดยไทยจะได้รับประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว ดังนี้ 1.การค้าสินค้า จะทำให้วัตถุดิบที่นำเข้าจากฮ่องกงมีราคาถูกลง 2.การค้าบริการ จะช่วยยกมาตรฐานภาคบริการของไทยโดยผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกง ทั้งนี้ ฮ่องกงได้เปิดตลาดบริการเพิ่มเติมให้ตามที่ไทยเรียกร้องในบริการการผลิตเนื้อหารายการแก่ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปลงทุนในฮ่องกงอย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการจัดจำหน่าย 3.ด้านการลงทุน ช่วยเปิดโอกาสการเข้าสู่แหล่งทุนในฮ่องกง ซึ่งฮ่องกงมีศักยภาพการลงทุนด้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงอาเซียน และการพัฒนาการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) และการเชื่อมโยงภายใต้นโยบาย One Belt One Road ของจีน

ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทย (Hong Kong Economic and Trade Office : HKETO) โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทย พ.ศ. ...ต่อไป

อนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการพบะปะหารือผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในวันที่ 10 พ.ย.60 ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 25 ณ นครดานัง ประเทศเวียดนามด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ