(เพิ่มเติม) ครม.สัญจรเห็นชอบมาตรการทางการเงินสนับสนุน-ช่วยเหลือพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จ.ชายแดนใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 28, 2017 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการด้านการเงินสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย โครงการที่ขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล รวม 3,800 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการเดิมที่ขอขยายระยะเวลา และปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไข รวม 3 โครงการ และโครงการใหม่ 1 โครงการ

ประกอบด้วย 1.โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ของธนาคารออมสิน) ซึ่งมีการต่ออายุออกไปอีก 5 ปี 2.โครงการพักชำระหนี้ลูกค้า ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.) 3.โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4.โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อมุสลิมและโครงการสินเชื่อบ้านมุสลิมชายแดนใต้ (ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ธอท.)

สำหรับโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของธนาคารออมสินนั้น เป็นโครงการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยมีวงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดมีการใช้วงเงินสินเชื่อไปแล้ว 17,729 ล้านบาท คิดเป็น 70.92% ยังคงเหลือวงเงินอีก 7,271 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 3,748 คน

โครงการดังกล่าวนี้จะสิ้นสุดระยะเวลาวันที่ 31 ธ.ค.60 กระทรวงการคลังจึงได้นำเสนอให้มีการขยายระยะโครงการต่อไปอีก 5 ปี จนถึง 31 ธ.ค.65 พร้อมปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ ดังนี้ 1.เพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ยยอดสินเชื่อคงค้างและเพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการฟื้นฟูกิจการของการกู้ยืมเงินประเภทวงเงินหมุนเวียนแบบมีกำหนดระยะเวลาเป็นลำดับแรก และสามารถให้เป็นสินเชื่อระยะยาว (L/T) เพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุนขยายกิจการได้

2.ผู้ประกอบการที่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือ จากเดิมที่เป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศ ซึ่งมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นอยู่เกินกว่า 50% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด ประกอบกิจการการผลิต, การให้บริการ, ค้าส่ง-ค้าปลีก ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่และมีสถานประกอบการใน จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ได้เพิ่มเติมให้เป็นผู้ประกอบการที่มีเงินสินเชื่อเดิมหรือผู้ประกอบการรายใหม่ และรวมการรับซื้อหรือรับโอนกิจการเพื่อดำเนินธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

3.อายุตั๋วสัญญาใช้เงิน กรณีเป็นเงินทุนหมุนเวียนยังคงเงื่อนไขเดิม แต่กรณีเป็นสินเชื่อระยะยาว (L/T) ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 4.วงเงินที่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาล เปลี่ยนมาเป็นสูงสุดไม่เกิน 567.5 ล้านบาท/ปี รวม 5 ปี คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 2,837 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินเบิกจ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง

ขณะที่โครงการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ธ.ก.ส. ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาโครงการในวันที่ 31 ธ.ค.60 นั้น ได้ขยายระยะเวลาโครงการต่ออีก 3 ปี จนถึง 31 ธ.ค.63 นอกนั้นเงื่อนไขโครงการต่างๆ ยังเป็นไปตามเดิมทุกประการ ส่วนกรอบวงเงินที่รัฐบาลรับภาระชดเชยนั้นจะตกปีละไม่เกิน 224 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 673 ล้านบาท

และโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาโครงการในวันที่ 31 ธ.ค.60 นั้น ได้ขยายระยะเวลาโครงการต่อไปอีก 3 ปี จนถึง 31 ธ.ค.63 พร้อมกับปรับปรุงวิธีการดำเนินการในส่วนที่รัฐสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยส่วนต่าง เป็น 0.3-3% จากเดิม 0.2-3% ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่สำหรับการประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้ายในปัจจุบัน รวมทั้งได้เพิ่มเติมให้รัฐสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุของพนักงานที่สถานประกอบการทำประกันภัยให้ โดยชดเชยในอัตรา 50% ของค่าเบี้ยประกันภัย เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการและพนักงานในพื้นที่ ส่วนวงเงินที่รัฐบาลชดเชยนั้น เพิ่มขึ้นมาเป็นปีละ 30 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 90 ล้านบาท

ด้านโครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อมุสลิม ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามา โดยจะเป็นการให้สินเชื่อแก่มุสลิมที่มีรายได้น้อยและมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนภายในครอบครัว แต่ต้องไม่เป็นการนำไป Refinance หนี้ในระบบ โดยมีวงเงินโครงการรวม 500 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาการผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม.ยังรับทราบโครงการที่ไม่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลอีก 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อบ้านมุสลิมชายแดนใต้ (ของ ธอท.) 2.โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ของ ธอส.) 3.โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ของ ธอส.) และโครงการบ้าน ธอส.เพื่อสานรัก ปี 2560 (ของ ธอส.)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ