กลุ่มนักวิชาการ ยื่น 43 รายชื่อหนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยันไม่กระทบสวล./ม็อบต้านปักหลัก 7 วัน รอฟังคำตอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 6, 2017 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภิญโญ มีชำนะ ประธานชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยคณะอาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัยและนักวิชาการ นำรายชื่ออาจารย์และนักวิชาการที่ลงชื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา และพื้นที่ภาคใต้ เพื่อยื่นให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สำหรับรายชื่ออาจารย์และนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้มีทั้งสิ้น 43 ราย เช่น นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน, นายสุรพันธ์ วงษ์โอภาสี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน, นายสุนทร พุ่มจันทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายมนูญ มาศนิยม หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ และวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น

นายภิญโญ กล่าวว่า เป็นหนึ่งในคณะกรรมการเพื่อศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งตนเองและนักวิชาการในเครือข่ายได้รวมกันอธิบายและชี้แจงถึงความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลา ให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมทั้งตอบข้อกังวลของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาอาจได้รับฟังข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนในพื้นที่จำนวนมากออกมาสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเปิดเผย

นายภิญโญ กล่าวว่า จากประสบการณ์ตนเอง และคณาจารย์ ที่ได้เดินทางไปดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินต่างประเทศ พบว่า ไม่เคยได้รับข้อมูลว่าเกิดความเจ็บป่วยร้ายแรง หรือสูญเสียชีวิต จากผลของมลภาวะที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะที่กลุ่มคัดค้านกลับให้ข้อมูลที่บิดเบือนไปว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งใกล้พื้นที่ทะเลมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและวิถีชุมชนนั้น ไม่ใช่เรื่องจริงเพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตพุด จ.ระยอง ก็มีที่ตั้งอยู่ริมทะเล ซึ่งพบว่าไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพประชาชนแต่กลับทำให้การทำประมงในพื้นที่ดีขึ้น

โดยพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพาอยู่ห่างจากทะเลถึง 9 กิโลเมตร ดังนั้นจึงมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน ส่วนข้อกังวลปริมาณสารโลหะหนัก หรือสารปรอท บางประเทศที่ดำเนินการก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เช่นเดียวกับปัญหาฝุ่น ก็มีการจัดการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

นายภิญโญ กล่าวว่า ขณะนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาล่าช้าไปจากแผนเดิมไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว สวนทางกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันและชายฝั่งอ่าวไทยที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เป็นไปตามแผน จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เข้าสู่ขั้นวิกฤต และการเกิดปัญหาไฟดับเป็นวงกว้าง ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

หากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้าไปมากกว่านี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทราบมาว่าบริษัทๆ ใหญ่ไม่เพิ่มการลงทุนในประเทศไทยแล้ว แต่ไปเพิ่มการลงทุนในประเทศรอบบ้านเราเอง

ด้านนายสมศักดิ์ สายสินธุ์ชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้น่ากลัวหรือมีผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้นโครงการของรัฐจึงควรได้รับการสนับสนุน เพราะเป็นโครงการที่สร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน ไม่ใช่เกิดการต่อต้านจนทำส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ พร้อมทั้งยืนยันว่า คณะอาจารย์ นักวิชาการ ที่ร่วมลงชื่อในวันนี้ ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง หรือได้รับผลประโยชน์ใดๆ

ขณะที่เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ร่วมยื่นข้อเสนอต่อสาธารณะและรัฐบาล กรณีร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับ คสช. หน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) กรุงเทพ และคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 3 ข้อ 1.อยากให้ทางรัฐบาลส่งเรื่องไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้หยุดพิจารณาร่างดังกล่าว 2.ทางกลุ่มเห็นด้วยกับการแก้ไขร่างกฏหมายดังกล่าวทั้งฉบับ แต่ไม่เห็นด้วยหากจะมีการแก้ไขเฉพาะเรื่องการทำการประเมินวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ การก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม Environmental Health Impact Assessment หรือ EHIA และ 3.หากมีการตั้งคณะกรรมการ อยากให้มีสัดส่วนของประชาชนและภาครัฐจำนวนเท่ากัน ทั้งนี้กลุ่มต่อด้านได้แถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรื่อง ทำไมไม่เอากฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ โดยเรียกร้องให้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่มนปัจจุบันหรือพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ 2535 ที่มีความมุ่งเน้นแก้ไขเฉพาะหมวดว่าด้วนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ขั้นตอนเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน

โดยกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าเทพายืนยันจะปักหลักอยู่บริเวณสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จนกว่าจะได้คำตอบ โดยระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตจากสถานีตำรวจนครบาลเขตดุสิตจำนวน 7 วัน

ด้าน พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดุสิต กล่าวว่า การขอปักหลักค้างคืนเป็นการยื่นตามสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่การขออนุญาต ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าการปักหลักชุมนุมดังกล่าว หากพบว่ามีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวาย พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จะประกาศให้ทำเนียบรัฐบาลเป็นเขตห้ามชุมนุมในระยะ 50 เมตรทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ