รมช.คมนาคมจี้ บขส.ปรับรูปแบบบริการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า เร่งแผนย้ายสถานีเร็วขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday December 9, 2017 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมมอบนโยบายให้คณะกรรมการผู้บริหาร บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) โดยระบุว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการคือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการและที่ตั้งสถานี เนื่องจากปัจจุบันที่ตั้งของสถานีขนส่งหมอชิต 2 มีความชัดเจนแล้วว่า จะต้องส่งมอบคืนให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ที่จะใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ขณะที่บขส.มีแผนที่จะพัฒนาสถานีทั้งที่โรงซ่อมของรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบัน และพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานีกลางบางซื่อ ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดิมการย้ายสถานีจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 ปีนับจากนี้ไป ซึ่งในประเด็นนี้ เห็นว่า ควรเร่งรัดให้การย้ายสถานีดำเนินการได้เร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากการบริการรถโดยสารนั้น เชื่อว่า บขส.จะสามารถเพิ่มรายได้ที่ชัดเจนหากปรับรูปแบบการบริการไปเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า โดยหากพิจารณาตามแผนของกระทรวงคมนาคมก็พบว่า จะมีบริการรถไฟฟ้าสายใหม่และสถานีสำคัญๆ เช่น สถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2562 และส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง จะเปิดหลายเส้นทางปี 2564 ดังนั้นแผนการย้ายสถานีจะต้องมีความชัดเจนเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การให้บริการของรถโดยสารบขส.หากพิจารณาในรูปแบบที่เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ผู้ใช้บริการและบขส.เอง ตัวอย่างเช่น บริการรถโดยสารในประเทศญี่ปุ่น รถโดยสารไม่จำเป็นต้องมีสถานีกลางขนาดใหญ่เป็นที่จอดรถแต่สามารถทำจุดจอดรถกระจายอยู่ตามสถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าอื่น ๆ โดยมีเพียงป้ายบอกกำหนดเวลาเดินทางและเส้นทางไว้ ผู้โดยสารก็จะทราบข้อมูลการเดินทางโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการ ก็จะทำให้การบริหารเส้นทางการเดินรถมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะเดียวกันอยากให้บขส.พิจารณารูปแบบบริหารจัดการของสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของบริการรถโดยสาร โดยจากข้อมูลพบว่า สายการบินต้นทุนต่ำพยายามบริหารความต่อเนื่องในการทำการบินในแต่ละวัน โดยเครื่องบินแต่ละลำที่จัดซื้อมานั้นจะมีความชัดเจนว่า จะทำการบินในเส้นทางใดและใน 1 วัน จะทำการบินได้กี่ชั่วโมง โดยหากทำการบินมากก็จะสร้างรายได้ได้มากตามไปด้วยรวมถึงสายการบินต้นทุนต่ำจะมีรูปแบบประเภทเครื่องบินน้อยมาก ซึ่งจะส่งผลดีในแง่ของต้นทุนการจัดการงานซ่อมบำรุงรวมทั้งพนักงานที่ขับเครื่องบินก็สามารถปฏิบัติงานได้ง่ายด้วย ดังนั้นบขส.ควรศึกษาว่ารถโดยสารที่มีอยู่จะสามารถนำมาวิ่งในเส้นทางใดบ้างในแต่ละวันเพื่อใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งการวิ่งรับส่งผู้โดยสารได้อย่างต่อเนื่องก็จะสามารถนำมาซึ่งรายได้แก่องค์กร ส่วนประเด็นที่บขส.จะขยายหรือเปิดเส้นทางเดินรถใหม่นั้น จะต้องได้รับการอนุมัติจากกรมการขนส่งทางบกด้วยนั้น ทั้งสองหน่วยงานเป็นหน่วยงานรัฐก็สามารถเจรจาเพื่อประโยนชน์ของทั้งสององค์กรได้

ขณะที่นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส.กล่าวว่า ในส่วนของแผนเพิ่มรายได้ฝ่ายบริหารได้นำเสนอคณะกรรมการของบขส.ไปแล้วว่า ในปี 2561 จะปรับปรุงองค์กรและพัฒนาบริการต่าง ๆ โดยวางเป้าหมายว่า จะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท และมีกำไร 120 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ