พาณิชย์ ไม่พบ"ราเมงอิชิรัน"จากญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรในไทย แต่แบรนด์ "ICHIRAN"เข้ามาเปิดสาขาได้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 13, 2017 10:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ในโลกออนไลน์ว่าสื่อมวลชนประเทศญี่ปุ่นแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการลอกเลียนร้าน "อิชิรัน" ซึ่งเป็นร้านราเมงชื่อดังในประเทศญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในหมู่คนไทยในชื่อ "ร้านราเมงข้อสอบ" เนื่องจากมีร้านราเมงแห่งหนึ่งในประเทศไทยถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนเอกลักษณ์ วิธีการตกแต่งร้าน และวิธีการสั่งอาหารจากร้านอิชิรันมาใช้ดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก

จากกรณีดังกล่าว กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแล้ว พบว่าร้านราเมงอิชิรันได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร "Shop System" ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงเป็นระบบสำหรับการตรวจสอบจำนวนลูกค้า ที่นั่งว่าง และการสั่งอาหาร เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2546 และได้รับสิทธิบัตรหมายเลข JP 4267981 B2 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 แต่ไม่ได้ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรดังกล่าวในประเทศไทย ทั้งนี้ หากวันนี้มีผู้ใดนำอุปกรณ์และระบบข้างต้น มายื่นขอจดสิทธิบัตรในประเทศไทยอีก ก็จะมีประเด็นพิจารณาเรื่องความใหม่ ซึ่งถ้าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้เปิดเผยรายละเอียดแล้วก็จะขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการจดทะเบียน

ในส่วนของชื่อร้านนั้น ผู้ประกอบการญี่ปุ่นได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "ICHIRAN" เป็นภาษาญี่ปุ่นกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้ว ซึ่งทำให้ผู้อื่นไม่อาจใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ สำหรับรูปแบบการตกแต่งร้านอันเป็นเครื่องหมายรูปลักษณ์ (trade dress) ไม่อาจขอรับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทยดังนั้น หากร้านอิชิรันต้นตำรับจากญี่ปุ่นจะมาเปิดสาขาในประเทศไทย ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้า "ICHIRAN" มาใช้หรือนำสิทธิบัตร "Shop System" มายื่นขอจดทะเบียนเป็นของตน

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้กล่าวเชิญชวนนักประดิษฐ์และผู้ประกอบการชาวไทย ให้สร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญารวมทั้งอัตลักษณ์ที่เป็นของตนเอง ซึ่งมีความแปลกใหม่เพื่อดึงดูดลูกค้าหรือผู้รับบริการ โดยควรยื่นขอรับความคุ้มครองในไทยและ ในประเทศที่จะไปประกอบธุรกิจด้วย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ตามกฎหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ