(เพิ่มเติม) สกรศ. ผลักดัน 5 โครงการใน EEC เข้า PPP มูลค่าลงทุนกว่า 6 แสนลบ. คาดTOR แล้วเสร็จ Q2/61

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 27, 2017 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้สำเร็จได้ จำเป็นต้องพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจกาค้า โดยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายคมนาคมขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ทั้งทางอากาศ, ทางราง, ทางถนน และทางน้ำ ให้เชื่อมสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และผลักดันให้ภาคตะวันออกของไทยเป็นประตูสู่ตลาด CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) และจีนตอนใต้

โดย 5 โครงการสำคัญในพื้นที่พัฒนา EEC ที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปธรรมในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnerships : PPP) ประกอบด้วย 1.สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 2.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา 3.รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 4.ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ 5.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมวงเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาท โดยกำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 61

ทั้งนี้ สำหรับโครงการ EEC รัฐบาลได้จัดเตรียมสิทธิประโยชน์และมาตรการต่างๆ เพื่อดึงดูดเอกชนที่มีศักยภาพมาร่วมพัฒนาโครงการ อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี เป็นสัดส่วนไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น สำหรับส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออก 1 ปี สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาเพื่อการศึกษาลู่ทางการลงทุน หรือนำช่างฝีมือและผู้ชำนาญการเข้ามาทำงาน รวมถึงการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และส่งออกซึ่งเงินตราต่างประเทศ (สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ตามแผนการลงทุนของรัฐบาล ตั้งเป้าหมายว่าโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี 2566, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี 2564, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี 2566, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี 2568 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตามพุด ระยะที่ 3 จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี 2567

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ได้มีการจัดทำระเบียบ PPP EEC Track เพื่อขับเคลื่อน 5 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้สำเร็จตามแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วงเงินรวม 6.08 แสนล้านบาท โดยทุกโครงการคาดว่าจะสามารถกำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) ได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2561 และจะสามารถเปิดประมูลและได้รายชื่อเอกชนที่จะลงทุนภายในปี 2561

"ระเบียบ PPP EEC Track จะช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ่อน เร่งกระบวนการทำงานทั้งหมดให้รวดเร็วขึ้น ใช้เวลาในการจัดเตรียมและเสนอโครงการไปจนถึงคัดเลือกเอกชนและลงนามในสัญญา ภายใน 8-10 เดือน ถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับกระบวนการปกติที่ใช้เวลาประมาณ 20-40 เดือน โดยตามแผนงาน PPP EEC Track นั้น ในช่วง 3.5-4.5 เดือน จะเป็นการจัดเตรียม และนำเสนอโครงการ ช่วง 4.5-5.5 เดือน อยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน และ 8-10 เดือนจะเปิดประมูลและลงนามในสัญญาได้" นายเอกนิติ กล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลตั้งใจที่จะผลักดันให้โครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นหลักประกันให้กับนักลงทุนว่าโครงการลงทุนตามแผนของรัฐบาลจะเกิดขึ้นจริง และทุกอย่างจะจบภายในปีหน้า และจะเป็นหลักประกันอีกว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็จะมาขับเคลื่อนโครงการลงทุนต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นต่อเนื่องไป

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระเบียบ PPP EEC Track จะใช้ดำเนินการเฉพาะโครงการสำคัญที่เกิดขึ้นใน EEC เท่านั้น โดยรายชื่อโครงการจะถูกบรรจุอยู่ใน EEC Project List ซึ่งมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าเป็นโครงการที่ต้องการร่วมทุนกับภาคเอกชน โดยระเบียบดังกล่าวจะเพิ่มเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยจะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. ความเหมาะสมของโครงการ 2. รูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน และ 3. ร่างเอกสารการคัดเลือกและการร่วมทุนของภาคเอกชน

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าระเบียบ PPP EEC Track จะช่วยดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างชาติได้เป็นอย่างดี เนื่องจากช่วยทำให้มีความชัดเจน มีขั้นตอนต่างๆ ที่กระชับและมีกรอบระยะเวลา มีมาตรการสนับสนุนโครงการที่ชัดเจน ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาจะอยู่บนความจำเป็นและความสมเหตุสมผล

"ขณะนี้มีนักลงทุนทั้งญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ และยุโรป ที่ให้ความสนใจเข้ามาร่วมในโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลผลักดัน โดยยืนยันว่าทุกโครงการตามแผนงานของรัฐบาลจะมีการเปิดประมูลทั้งหมด ไม่มีวิธีพิเศษในการคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนอย่างแน่นอน" นายกอบศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ