(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย ธ.ค.60 CPI โต 0.78% Core CPI โต 0.62% พร้อมมองกรอบปีนี้ 0.6-1.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 3, 2018 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ธ.ค.60 อยู่ที่ 101.37 ขยายตัว 0.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.08% จากเดือน พ.ย.60 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ยทั้งปี 60 ขยายตัว 0.66%

ส่วน Core CPI เดือน ธ.ค.60 อยู่ที่ 101.61 ขยายตัว 0.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.02% จากเดือน พ.ย.60 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ยทั้งปี 60 ขยายตัว 0.56%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 101.70 ขยายตัว 0.20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.23% จากเดือน พ.ย.60 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.19 ขยายตัว 1.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.01% จากเดือน พ.ย.60

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 61 ว่าจะอยู่ในกรอบ 0.6-1.6%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.60 ที่เพิ่มขึ้น 0.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการปรับขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ขยายระยะเวลาลดการผลิต ทำให้ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานสูงขึ้น 4.06% ขณะที่กลุ่มอาหารสดลดลง 0.91% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 60 เพิ่มขึ้น 0.66% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับที่เป็นไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

"ทั้งปี 60 ที่ระดับ 0.66% เป็นอัตราที่ไม่สูงมากนัก แสดงว่าประชาชนมีค่าครองชีพสูงกว่าปีก่อนเล็กน้อย กำลังซื้อภาคประชาชนดีขึ้น แต่ไม่ได้มากนัก โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งรัฐบาลคงต้องดูแลและให้การช่วยเหลือต่อไป...ภาพรวม CPI อยู่ในระดับที่เป็นไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

ส่วน CPI ในเดือน ธ.ค.60 ลดลง 0.08% จากเดือน พ.ย.60 เนื่องจากราคากลุ่มอาหารสดลดลง 0.63% จากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้ผลผลิตของผักสดและผลไม้เข้าสู่ตลาดมากขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ความต้องการบริโภคคงที่ ราคาจึงปรับลดลง ได้แก่ ผักชี คึ่นช่าย ต้นหอม ผักกาดหอม ส้มเขียวหวาน สับปะรด รวมทั้งการลดลงของเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และข้าวสารเจ้า ส่งผลให้หมวดอาหารและเครื่องดื่มลดลง 0.23%

ขณะที่กลุ่มพลังงาน ลดลง 0.02% จากการปรับลดราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนตามราคาก๊าซในตลาดโลก และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีก สูงขึ้น 0.02% ส่งผลให้หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.01% และสินค้าอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.33% จากการปรับภาษีค่าความหวานของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ ชา และกาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม

การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในเดือน ธ.ค.60 มีดังนี้ สินค้าที่ราคาสูงขึ้น 114 รายการ เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ ขนมหวาน ปลาทู กุ้งขาว กาแฟผงสำเร็จรูป ค่าเช้าบ้าน น้ำมันเชื้อเพลิง เบียร์ ค่าทัวร์ต่างประเทศ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงมี 118 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว น้ำมันพืช ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ซีอิ๊ว ผงซักฟอก และน้ำยาล้างห้องน้ำ เป็นต้น ในขณะที่สินค้าอีก 190 รายการราคาไม่เปลี่ยนแปลง

น.ส.พิมพ์ชนก ยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 61 ว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยอยู่ในกรอบระหว่าง 0.6-1.6% โดยคาดว่าจะเข้าใกล้ระดับ 1% ซึ่งเป็นฐานล่างตามกรอบนโยบายการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังได้เห็นชอบร่วมกันที่ 2.5% บวก/ลบ 1.5% หรืออยู่ในกรอบ 1-4%

สำหรับสมมติฐานอัตราเงินเฟ้อในปี 61 มาจากคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 3.5-4.0% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ที่ระดับ 33-35 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยที่ยังช่วยสนับสนุน CPI ให้ปรับตัวสูงชึ้น คือ อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับการผลิตและรายได้เกษตร และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย, การส่งออกที่มีการขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2561

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย, ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน

น.ส.พิมพ์ชนก ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 61 จะยังเติบโตได้ดี และจากข้อมูลดัชนีต่างๆ ที่ได้รวบรวมไว้ทำให้เห็นว่ารัฐบาลยังคงต้องดูแลและให้การช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร, กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐบาลคงต้องเดินหน้าเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ต่อไป รวมทั้งให้การช่วยเหลือภาคธุรกิจ SMEs ให้สามารถใช้ประโยชน์จากดัชนีราคาต่างๆ ที่กำลังปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคก่อสร้าง ภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งภาคการส่งออก

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 1/61 คาดว่าจะได้รับแรงผลักดันจากการจับจ่ายสินค้าช่วงเทศกาลตรุษจีนช่วงเดือนม.ค. และ ก.พ. แต่ทั้งนี้ในภาพรวมเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับไม่เกิน 1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ