พาณิชย์ ประชุมคณะอนุกรรมการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เตรียมพร้อมรับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนในปี 62

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 11, 2018 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดประทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนเองได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 1/2561 เพื่อเตรียมการสำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องรวม 39 หน่วยงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กรมศุลกากร กรมสรรพากร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เป็นต้น เข้าร่วมหารือเรื่องการกำหนดประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยต้องการผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของหน่วยงานไทย

ที่ประชุมฯ มีความเห็นในเบื้องต้นว่า ประเด็นที่ไทยควรผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ของอาเซียนในปี 2562 ในฐานะประธานอาเซียนควรสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย ตลอดจนทันสมัยกับแนวโน้มเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดคล้องกับแผนงานที่อาเซียนได้ตั้งเป้าจะดำเนินการให้สำเร็จในปี 2562 รวมทั้งอาจต่อเนื่องกับประเด็นที่ประเทศซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีที่ผ่านๆ มาตั้งไว้ เช่น ในปี 2561 สิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียน ได้กำหนดให้อาเซียนผลักดันเรื่องนวัตกรรมและความเชื่อมโยง และฟิลิปปินส์ในฐานะประธานอาเซียนในปี 2560 ได้กำหนดให้อาเซียนผลักดันเรื่องการมีส่วนร่วมและการเติบโตด้วยนวัตกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีความเห็นว่าอาเซียนควรเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน โดยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับผลกระทบจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทดแทนแรงงานคน และควรให้ความสำคัญกับการผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP สามารถสรุปผลให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ จึงได้มีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยต้องการผลักดันหรือเกิดผลลัพธ์ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ต่อไป โดยมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธาน

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่สำคัญของอาเซียน ได้แก่ การเชื่อมโยงอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ซึ่งกรมศุลกากรแจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ประเทศสมาชิกรวม 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้เริ่มดำเนินการเชื่อมโยงเพื่อแลกเปลี่ยน e-Form D ร่วมกันแล้ว ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยลดภาระภาคเอกชนในการเตรียมเอกสารใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อส่งออกไปอาเซียน เพราะจะเป็นการยื่นเพียงครั้งเดียวทางอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยในการบริหารความเสี่ยงและวางแผนการตรวจปล่อยสินค้าของประเทศผู้นำเข้า ทำให้การตรวจปล่อยสินค้าจากด่านศุลกากรของประเทศผู้นำเข้ารวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน และสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศในอาเซียน

นอกจากนั้น ที่ประชุมฯ ยังได้หารือถึงปัญหาอุปสรรคทางการค้าในอาเซียนที่ปัจจุบันมีบางประเทศสมาชิกอาเซียนนำมาตรการที่มิใช่ภาษีมาใช้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้าของไทย เช่น กฎระเบียบการนำเข้ารถยนต์ของเวียดนาม และมาตรการนำเข้าพืชสวนของอินโดนีเซีย จึงเห็นควรที่อาเซียนจะต้องเร่งหารือมุ่งดำเนินการเพื่อขจัด/ลดอุปสรรคทางการค้าเหล่านี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม-ตุลาคม) มีมูลค่า 83,505 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.1 ของการค้าระหว่างไทยกับโลก โดยเป็นการส่งออก 48,907 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 34,598 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกไปยังอาเซียนมีสัดส่วนร้อยละ 25.0 ของการส่งออกรวมของไทย และขยายตัวร้อยละ 8.1 ในขณะที่การนำเข้าจากอาเซียนมีสัดส่วนร้อยละ 18.9 ของการนำเข้ารวมของไทย และขยายตัวร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ