(เพิ่มเติม) "สมคิด"เผยรัฐบาลดัน EEC ปลุกจิตสำนึกคนไทยร่วมวางอนาคตชูความโดดเด่นประเทศก่อนพ้นหน้าที่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 29, 2018 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการสัมมนา "EEC ไม่มีไม่ได้" ว่า รัฐบาลต้องการสร้างเจ้าของกิจการใหม่ๆ ที่นำเอาดิจิทัลมาสร้างมูลค่าสินค้า จุดหนึ่งที่รัฐบาลมองคือการสานต่อพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออกที่มีอยู่เดิม โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจูงใจการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีคำขอเข้ามาเกือบ 2 แสนล้านบาท

"อนาคตของประเทศอยู่ในมือเราว่าจะให้เป็นอย่างไร เราจึงต้องพยายามผลักดันให้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เกิดขึ้นให้ได้ แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลเริ่มต้นไว้แล้ว เราต้องปลุกจิตสำนึกของคนในประเทศว่าอนาคตอยากเป็นอย่างไร...เหลืออีกปีหนึ่งผมก็จะทำงานถึงวันสุดท้าย แล้ววันหนึ่งคนจะรู้ว่าเกิดอะไร" นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด ระบุว่า รัฐบาลมีแนวคิดที่จะทำให้ประเทศเกิดความโดดเด่นขึ้นมา โดยมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เริ่มด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพราะหมดยุคที่จะแข่งขันโดยนำเรื่องค่าแรงถูกมาแข่งขันกันอีกต่อไป เนื่องจากการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีการพัฒนาเพื่อรองรับโอกาสดังกล่าว

ดังนั้น รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่จะทำให้ประเทศเกิดความโดดเด่นขึ้นมา โดยมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เริ่มด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพราะหมดยุคที่จะแข่งขันโดยนำเรื่องค่าแรงถูกมาแข่งขันกันอีกต่อไป เนื่องจากการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก

"วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีก่อนกลายเป็นโอกาสที่จะได้ปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่สามารถแข่งขันได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันอย่างแรง ไม่ใช่แค่มียักษ์ใหญ่ไม่กี่เจ้า" นายสมคิด กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่เพื่อรองรับอีอีซีจะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเร็วๆ นี้

"ใกล้เสร็จแล้ว เหลืออีกไม่กี่มาตรา น่าจะเสร็จภายในไม่กี่วันนี้" นายสมคิด กล่าว

นอกจากนี้ คาดว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่ จ.ตราด จะมีการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับแผนพัฒนาพื้นที่อีอีซี ทั้งเรื่องการเกษตรและการท่องเที่ยว

ส่วนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีนั้นเชื่อว่าแนวโน้มน่าจะดี แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือเน้นคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านดิจิทัล เพราะในอนาคตการใช้อินเตอร์เน็ตมีความสำคัญมาก ส่วนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีเส้นทางรถไฟทางคู่อยู่แล้ว เมื่อสถานการณ์เหมาะสม ภาคเอกชนก็จะดำเนินการเอง

ด้านความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งนั้น นายสมคิด ระบุว่า ยังไม่เคยได้ยินนักลงทุนแสดงความกังวลเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพราะต่สิ่งที่นักลงทุนต้องการเห็นคือบ้านเมืองสงบ การเมืองมีเสถียรภาพ และภาวะเศรษฐกิจดี

"ถ้าไม่ทะเลาะกันก็น่าจะมีการเลือกตั้งเร็ว ผมลืมบอกไปว่าถ้าเศรษฐกิจดีอย่างนี้หุ้นน่าจะขึ้นนะ" นายสมคิด กล่าว

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กำลังจะผ่านการพิจารณาของชั้นกรรมาธิการเร็ว ๆ นี้ และคาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 3 และออกเป็นกฏหมายได้ในเดือน ก.พ. ซึ่งจะมีส่วนทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจในความพร้อมที่จะเข้าลงทุนในพื้นที่ EEC

ปัจจุบันมีการผลักดันโครงการ EEC ให้เกิดขึ้นจริงจากทุกภาคส่วน ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งในและนอกประเทศมากขึ้น และในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่มีความยึดโยงกับ EEC จะต้องมีการปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีอัตราเร่งสูง ถ้ามีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้เติบโตแบบก้าวกระโดด แตกต่างจากยุคก่อนที่มีเวลาปรับตัวค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ดี การปรับตัวในการเดินตาม Roadmaps 4.0 จะต้องแก้ไขปัญหาสะสมที่ผ่านมาในอดีต ทั้งไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน อาทิ ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ซึ่งจะมีอิทธิพลมากขึ้นและผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต และอาจส่งผลให้การเติบโตของประเทศไทยแกว่งตัว ชะลอตัว มีความผันผวน และมีส่วนกระทบต่อความเป็นอยู่ นอกจากนี้จะต้องสร้างโอกาสและอนาคตให้คนรุ่นใหม่ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

"วันนี้เราพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ และไทยแลนด์ 4.0 เป็นแผนใหญ่ที่ต้องครอบคลุมไปทุกภาคส่วน และการนำไปสู่ภาคปฎิบัติ มีเป้าหมายคือการสร้างฐานพัฒนาของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 60 ที่ผ่านมาที่ออกมาเกินกว่ากระทรวงฯ คาด" นายอุตตม กล่าว

พร้อมระบุว่า นอกจากนี้ ยังต้องมองถึงเทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนช่วยในการเติบโตของประเทศ โดยมีแผนให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีให้ทั่วถึงก่อน และจึงให้ความรู้ความเข้าใจ เนื่องจากมองว่าถ้าคนไทยมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น จะเป็นบ่อเกิดแห่งการสร้างสรรค์ต่อไป ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีแผนยุทธศาสตร์และนโยบายเพื่อยกระดับในการต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้มีจุดแข็งชัดเจน โดยผลิตสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะต้องมีการผลิตเพื่อพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีให้ได้ ซึ่งเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำ

ขณะที่ภาคเกษตรกรรม จะต้องมีการยกระดับสู่อุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่ และมีการแปรรูปอาหารเป็นอาหารแห่งอนาคต เช่น มีส่วนผสมสำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม และต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (BIO ECONOMY) ที่มีมูลค่าสูงและมีความต้องการจากตลาด โดยใช้ EEC เป็นฐานใหม่ ส่วนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มองว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันมีการสั่งซื้อนำเข้ามาเพื่อใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน และเข้าถึงตลาดได้กว้างกว่า โดยเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพพอที่จะพัฒนาต่อยอดเพื่อผลิตเอง

รมว.อุตสาหกรรม มองว่า ประเทศไทยในอนาคตจะมีโอกาสขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก และหากประเทศเหล่านั้นมีการเติบโตที่ดี แรงงานเหล่านั้นอาจมีการย้ายกลับถิ่นฐาน ซึ่งมองว่าแรงงานคนจะต้องปรับไปอยู่ในส่วนอื่น ๆ ในขณะที่ธุรกิจเติบโตขึ้นก็จะทำให้มีงานใหม่ ๆ เข้ามา และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อตอบรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ