ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 31.50/52 แข็งค่า ตลาดรอผลประชุมกนง.อาจเสียงแตก-เงินเฟ้อสหรัฐฯ คาดกรอบพรุ่งนี้ 31.40-31.65

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 13, 2018 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 31.50/52 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่า จากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 31.64 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ ทั้งนี้คาดว่านักลงทุนรอติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กน ง.) ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเริ่มมีเสียงบางส่วนเห็นว่ามีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1.75% ได้ในรอบนี้ ขณะ เดียวกันก็ติดตามการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐในคืนวันพุธด้วย

"ตลาดรอดูผลประชุม กนง.พรุ่งนี้ เพราะเริ่มจะมีเสียงแตก อาจมีการขึ้นดอกเบี้ยเป็น 1.75% ได้ รวมทั้งรอดูตัวเลข CPI ของสหรัฐฯ คืนพรุ่งนี้ด้วย" นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.40 - 31.65 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เย็นนี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 107.65 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 108.70 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2310 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.2291 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,800.03 จุด เพิ่มขึ้น 0.58 จุด (+0.03%) มูลค่าการซื้อขาย 53,850 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 2,493.58 ลบ.(SET+MAI)
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า สกุลเงินดิจิทัลไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนักต่อเงินเยน เนื่องจากเป็น
การลงทุนที่แตกต่างกัน โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ซื้อขายเงินดิจิทัลเพื่อเก็งกำไร ขณะที่ใช้เงินเยนในการชำระเงินและชำระหนี้ อย่างไรก็
ดี ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะจับตาดูความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินที่ทางแบงก์ชาติดูแล
อยู่ แต่ได้เตือนว่าเงินดิจิทัลไม่ใช่เงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเหมือนเงินเยน ทั้งยังไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ รองรับด้วย
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผย ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี
โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ ดัชนี PPI ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 โดยตัวเลขเงิน
เฟ้อของญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอ ขณะที่ BOJ ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนนโยบาย
ผ่อนคลายการเงินเชิงรุกได้
  • กระทรวงการคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐมียอดเกินดุลงบประมาณ 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค.
2561 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากระดับ 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค.ปีที่แล้ว สำหรับหน่วยงานที่ใช้งบประมาณจำนวนมากในเดือน
ม.ค. ได้แก่ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ซึ่งมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 41% โดยส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้
จ่ายในการฟื้นฟูภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ตลอดปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น 1.76 แสนล้านดอลลาร์
เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2559 ที่ระดับ 1.59 แสนล้านดอลลาร์
  • นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขดัชนี
ราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนม.ค.ในวันพุธ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันพฤหัสบดี ซึ่งหากตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นัก
วิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ก็อาจส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้
  • ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนม.ค., ดัชนีราคาผู้บริโภค
(CPI)เดือนม.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนธ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีภาคการผลิต
(Empire State Manufacturing Index) เดือนก.พ. จากเฟดนิวยอร์ก, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนม.ค., การผลิตภาค
อุตสาหกรรมเดือนม.ค., ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนม.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนก.พ.
จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ