บอร์ด BOI ไฟเขียวมาตรการลดผลกระทบด้านแรงงาน-มาตรการส่งเสริมภาคการเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 14, 2018 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อสนับสนุนการยกระดับความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการลดผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน และค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น โดยให้ปรับปรุงเพิ่มเติมมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมถึงการนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาใช้ โดยกิจการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโครงการที่ดำเนินการอยู่เดิม เป็นระยะเวลา 3 ปี ในวงเงิน 50% ของมูลค่าเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน และให้ปรับปรุงมาตรการเพื่อความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เช่น ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ชั้นสูง เป็นต้น ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีมติเห็นชอบให้ส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านการเกษตรเป็นกรณีพิเศษ หากยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 61 โดยผ่อนปรนเงื่อนไขด้านการผลิตให้ง่ายขึ้น และปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์เคมีนาโน และสารป้องกันการกำจัดศัตรูพืชชีวภัณฑ์ กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ กิจการคัดคุณภาพบรรจุและเก็บรักษาพืชผักผลไม้ หรือดอกไม้ กิจการผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ กิจการผลิตภัฯฑ์จากผลพลอยได้ทางการเกษตร การผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร การผลิตสารสกัดจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ หรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ การผลิตหรือถนอมอาหารและเครื่องดื่ม กิจการห้องเย้นและขนส่งห้องเย็น กิจการศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตร เป็นต้น

โดยกำหนดแนวทางการส่งเสริมออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีเป็นผู้ประกอบการขนาดย่อมที่ลงทุนในกิจการด้านการเกษตรตามที่กำหนด จะผ่อนปรนเงินลงทุนขั้นต่ำของโครงการจาก 1 ล้านบาท เหลือ 5 แสนบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) และผ่อนปรนให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการได้บางส่วน โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5-8 ปี ในสัดส่วนไม่เกิน 200% ของมูลค่าเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน

และกรณีหากเป็นผู้ประกอบการที่สนับสนุนหรือร่วมดำเนินการกับท้องถิ่นลงทุนในกิจการด้านการเกษตรตามที่กำหนด จะต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปีจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิมในสัดส่วนไม่เกิน 100% ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน

ที่ประชุมฯ ยังอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการผลิตเอทานอล 99.5% ของบริษัท อิมเพรส เอทานอล จำกัด (หุ้นไทยและมาเลเซีย) เงินลงทุน 2,970 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อผลิตเอทานอลปีละประมาณ 109,500,000 ลิตร ซึ่งจะใช้วัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ มันสำปะหลัง ปีละ 700,000 ตัน

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการ BOI อนุมัติมาตรการอีอีซี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 และได้ประกาศกำหนดประเภทกิจการเป้าหมายสำหรับ"เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ"และ"นิคมหรือเขตอุตสาหกรรมทั่วไป"แล้ว ในครั้งนี้ยังอนุมัติให้กำหนดกลุ่มประเภทกิจการเป้าหมายเพื่อรองรับการประกาศ"เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย"ของคณะกรรมการนโยบายอีอีซี ซึ่งจะทำให้ประเภทกิจการเป้าหมายสำหรับแต่ละเขตมีผลใช้บังคับทันทีที่คณะกรรมการนโยบายอีอีซีออกประกาศกำหนดเขตดังกล่าว ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วยอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ (s-Surve) และกิจการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ