SCB EIC ชี้ 3 อุตสาหกรรมเด่น"การบินและโลจิสติกส์-ดิจิทัล-หุ่นยนต์"ขานรับ EEC ช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 15, 2018 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิธาน เจริญผล ผู้อำนวยการอาวุโสคลัสเตอร์ธุรกิจบริการ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการพลิกโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยจากการดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งอีไอซีประเมินว่าอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะเป็น 3 อุตสาหกรรมที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในช่วงต้นของการพัฒนาพื้นที่ EEC จากศักยภาพของผู้ประกอบการ ทักษะแรงงาน และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

ธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่เน้นรองรับเครื่องบินลำตัวแคบ (narrow body) จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในอนาคต โดยเครื่องบินลำตัวแคบที่สายการบินต้นทุนต่ำเลือกใช้มีสัดส่วนกว่า 70% ของเครื่องบินที่ผ่านเข้าออกสนามบินของไทยทั้งหมด และมีปริมาณจะเติบโตอีกกว่า 1.5 เท่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพื่อรองรับการท่องเที่ยว จะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อผู้ประกอบการไทยในการซ่อมบำรุงอากาศยาน และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ในประเภทชิ้นส่วนหลัก (กลุ่ม tier 2) และชิ้นส่วนรอง (กลุ่ม tier 3) ซึ่งในปัจจุบันไทยมีมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอากาศยานกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอากาศยานราว 60% ชุดระบบสายไฟราว 30% และที่เหลือเป็นส่วนประกอบเครื่องยนต์และยางล้อเครื่องบิน

โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลจะสร้างแรงดึงดูดการลงทุนด้าน Internet of Things (IoT) ซึ่งจะสร้างโอกาสต่อผู้ประกอบการในการพัฒนา IoT solution ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันการใช้จ่ายด้าน IoT ของไทยยังกระจุกตัวอยู่ที่อุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ ขณะที่ภาคการเกษตรยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีนี้มากนัก สะท้อนจากสัดส่วนการใช้ embedded software ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ มีความสามารถในการสื่อสารในภาคเกษตร มีการใช้เพียง 0.1% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีการใช้ถึง 76% ของอุปกรณ์ทั้งหมด

"อีไอซีประเมินว่า หากมีการใช้ IoT ในการเกษตรเพื่อควบคุมการให้น้ำ การควบคุมโรคและศัตรูพืช และการติดตามสภาพดิน จะสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 30-50% และหากนำไปใช้กับพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว จะทำให้เกษตรกรไทยสามารถเพิ่มผลผลิตได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ 480 กิโลกรัมต่อไร่" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ความคุ้มค่าของการลงทุนในหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในปัจจุบันและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยก้าวเข้าสู่ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการรวมระบบ (System Integrator: SI) โดยเมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการทดแทนแรงงานและค่าใช้จ่ายในการลงทุน อีไอซีพบว่าการใช้ระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะคุ้มทุนภายในระยะเวลา 6-10 ปี ขณะที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในปัจจุบันมีอายุการใช้งานสูงสุดราว 12 ปี ซึ่งจะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยก้าวเข้าสู่ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการรวมระบบ (System Integrator: SI) ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ออกแบบ และจัดหาระบบอัตโนมัติจากผู้ผลิตหุ่นยนต์และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ มาติดตั้งตามความต้องการของ end users ซึ่งในอนาคตแรงงานกว่า 6.5 แสนคน มีโอกาสที่จะถูกทดแทนหากมีการนำระบบดังกล่าวมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็จะมีการสร้างงานใหม่ที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเช่นกัน

SCB EIC ระบุว่า ด้วยพลวัตของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นโยบาย EEC เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของนโยบายดังกล่าว นอกจากนโยบายที่ชัดเจนและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและสาธารณูปโภคแล้ว ภาครัฐต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน การสร้างแรงงานที่มีทักษะเหมาะสม และการเตรียมพร้อมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่วนผู้ประกอบการภาคเอกชนควรมีการเตรียมพร้อมศึกษากฎระเบียบวิธีปฏิบัติในการลงทุน ข้อกำหนดต่างๆ และสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับจากการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ EEC รวมถึงการศึกษาและวางแผนการใช้โครงสร้างพื้นฐานในด้านคมนาคม เพื่อพัฒนาระบบขนส่งทั้งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อนำมากำหนดกลยุทธ์ในการประกอบกิจการต่อไป

"EEC จำเป็นต่อประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งจะเป็นกลไกที่ดึงดูด FDI เข้ามา สร้างโอกาสให้กับภาคธุรกิจในประเทศไทย ทำให้มีการลงทุนและมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น โดย Sector ที่เกี่ยวกับดิจิทัลและหุ่นยนต์ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของไทยในอนาคต แต่ไทยยังต้องมีการพัฒนาด้านแรงงานควบคู่เพื่อเพิ่มศักยภาพของแรงงาน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน"นายวิธาน กล่าว

ทั้งนี้ ประเมินแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในช่วงปี 64 ซึ่งเป็นปีที่ครบตามแผนการพัฒนาโครงการ EEC ในช่วง 5 ปี (ปี 60-64) จะสามารถเติบโตได้เฉลี่ย 5% ต่อปี จากปัจจุบันที่ GDP โตเฉลี่ย 3-4% ต่อปี ซึ่งการที่ GDP จะเติบโตได้ 5% ต่อปีนั้น การลงทุนใน EEC ต้องลงทุนได้สำเร็จในทุกโครงการที่วางแผนไว้ ส่วนในปีนี้คาดว่า GDP จะเติบโต 4% โดยการลงทุนภาครัฐในปีนี้จะเติบโต 8.7% และการลงทุนภาคเอกชนเติบโต 3% ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับปัจจัยมาจากการลงทุนไน EEC ที่ส่งผลบวกอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ